การประเมินจากการปฏิบัติ
(Performance Assessment)
ผศ.ดร.ทิวัตถ์ มณีโชติ
ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้สามารถวัดและประเมินโดยการปฏิบัติ (Performance assessment) บางกลุ่มสาระการเรียนรู้สามารถวัดและประเมินโดยการปฏิบัติได้เกือบทั้งหมด หรือเกือบทุกมาตรฐานการเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง การวัดและประเมินจากการปฏิบัติมีข้อดี คือ สามารถวัดและประเมินผู้เรียนได้ตรงสภาพความเป็นจริง (Authentic Assessment) กล่าวคือ ถ้าผู้เรียนสามารถปฏิบัติได้แสดงว่ามีความรู้ความสามารถหรือมีการเรียนรู้เรื่องนั้นแล้ว อย่างไรก็ดีการวัดและประเมินจากการปฏิบัติมีข้อจำกัดมากมาย เช่น สร้างแบบทดสอบและเกณฑ์ที่มีคุณภาพยาก สอบผู้เรียนจำนวนน้อย การสอบแต่ละครั้ง/แต่ละคนใช้เวลามาก เป็นต้น แต่การวัดและประเมินจากการปฏิบัติมีความสำคัญ โดยเฉพาะการวัดและประเมินทักษะ (Psychomotor Domain) ด้วยเหตุนี้ กระทรวงศึกษาธิการจึงกำหนดแนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเสนอวิธีการวัดและประเมินผลจากการปฏิบัติ ให้ผู้สอนมอบหมายงานหรือกิจกรรม (Tasks) ให้นักเรียนปฏิบัติ และให้มีการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนน (Rubrics) รายละเอียดดังนี้
ลักษณะของงานที่ให้นักเรียนปฏิบัติ
งานที่ให้นักเรียนปฏิบัติ ควรมีลักษณะดังนี้ (Mc Millan, 2001 : 210 – 215)
1. บูรณาการระหว่างเนื้อหากับทักษะที่สำคัญ (essential skills)
2. เป็นงานที่มีอยู่จริง (authentic)
3. สามารถประเมินผลการเรียนรู้ได้หลายด้าน (to assess multiple learning targets)
4. สามารถช่วยให้นักเรียนทำได้สำเร็จ ( can help students succeed )
5. เป็นงานที่มีความยืดหยุ่น (feasible)
6. สามารถทำได้หลายวิธี (multiple solutions)
7. มีความชัดเจน (clear)
8. เป็นงานที่ท้าทายและเร้าใจให้นักเรียนทำ (be challenging and stimulating to students)
9. มีเกณฑ์การให้คะแนน (scoring criteria) ที่ชัดเจน
10. ระบุเงื่อนไขความสำเร็จของงานอย่างชัดเจน (Constraints for completing the task)
นอกจากนี้ กรมวิชาการ (กรมวิชาการ, 2544 : 67 - 68) ได้เสนอ ชนิดของงาน (Performance task) หรือกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ปฏิบัติ จำแนกได้เป็น 12 ประเภท ดังนี้
1. งานที่ให้เปรียบเทียบกัน (Comparison task) เป็นงานที่ให้นักเรียนเปรียบเทียบสถานที่ คน หรือสิ่งของตั้งแต่ 2 สิ่งหรือมากกว่า เช่น เปรียบเทียบความแตกต่างของการใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยเคมี เปรียบเทียบตัวเอกของเรื่อง 2 เรื่อง ที่นักเรียนได้อ่าน เป็นต้น
2. งานที่ให้จำแนก (Classification task) เป็นงานที่ให้นักเรียนจำแนก หรือจัดประเภท คน สถานที่ หรือสิ่งของ เช่น ให้นักเรียนจัดกลุ่มของสัตว์ตามถิ่นที่อยู่ จัดกลุ่มของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น
3. งานการจัดวางตำแหน่ง (Position support task) เป็นงานที่ให้นักเรียนจัดวางตำแหน่งของบุคคล หรือการออกคำสั่ง แล้วให้เหตุผลเพื่อปกป้องตำแหน่งนั้น เช่น ให้นักเรียนจัดวางตำแหน่งของเพื่อนตามลำดับความรับผิดชอบ (พร้อมเหตุผลประกอบความเหมาะสมของคนในตำแหน่งนั้นๆ ) จัดเรียงลำดับของหัวหน้าพรรคการเมืองที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี (พร้อมเหตุผลประกอบ)
4. งานการนำไปใช้ (Application task) เป็นงานที่ให้นักเรียนนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ เช่น ให้นักเรียนเขียนเรื่องสั้นโดยให้นักเรียนอ่านเรื่องสั้นหลาย ๆ เรื่อง ให้หาประเด็นที่เป็นตัวร่วมของเรื่องสั้น แล้วนำความรู้ไปใช้เขียนเรื่องสั้นด้วยตนเอง เป็นต้น
5. งานจากการวิเคราะห์ (Analyzing perspective task) เป็นงานที่ให้นักเรียนวิเคราะห์มุมมองที่ต่างกัน 2 - 3 มุมมอง แล้วให้นักเรียนเลือกมุมมองเพื่อแสดงความคิดเห็น สนับสนุน เช่น ให้นักเรียนวิเคราะห์มุมมองของการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมกับสาเหตุของการทำลายป่าของเมืองไทย เป็นต้น
6. งานการตัดสินใจ (Decision making task) เป็นงานที่ให้นักเรียนต้องบอกองค์ประกอบหรือปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการตัดสินใจ เช่น ให้นักเรียนบอกถึงปัจจัยที่ทำให้นักเรียนเลือกการทดสอบความหวานของลำไยโดยใช้หลักการออสโมซิส เป็นต้น
7. งานมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์ (Historical perspective task) เป็นงานที่ให้นักเรียนพิจารณาทฤษฎีอื่นๆ นำมาตอบคำถามพื้นฐานด้านประวัติศาสตร์ เช่น ให้นักเรียนพิจารณาทฤษฎีที่จะอธิบายว่าทำไม และอย่างไรที่ไดโนเสาร์สูญพันธ์ เป็นต้น
8. งานพยากรณ์ (Predictive task) เป็นงานที่ให้นักเรียนพยากรณ์ว่าอะไรเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ให้นักเรียนทายว่าถ้าโยนเหรียญ 10 ครั้ง จะออกหัวหรือก้อยมากกว่ากัน เป็นต้น
9. งานแก้ปัญหา (Problem solving task) เป็นงานที่ให้นักเรียนหาวิธีการแก้ปัญหา เช่น ให้นักเรียนออกแบบผังวงจรไฟฟ้า ในห้องทำงาน ซึ่งมีหลอดไฟ 3 หลอด พัดลมติดเพดาน 1 ตัว เป็นต้น
10. งานทดลอง (Experimental task) เป็นงานที่ให้นักเรียนทดลองเพื่อทดสอบสมมติฐาน เช่น ให้นักเรียนทดลองเพื่อพิสูจน์ว่าพืชจะเติบโตได้ดีในที่มืดหรือที่มีแสงแดด เป็นต้น
11. งานคิดค้น (Invention task) เป็นงานที่ให้นักเรียนสร้างสิ่งใหม่ขึ้น เช่น ให้นักเรียนสร้างครีมกันแดดจากสมุนไพร สร้างเครื่องบินเล็กจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นและมีราคาถูก เป็นต้น
12. งานค้นหาข้อบกพร่อง (Error identification task) เป็นงานที่ให้นักเรียนระบุข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาด เช่น ให้ตำรวจเล่าการปฏิบัติงานของเขาให้นักเรียนฟัง และให้นักเรียนได้ดูการปฏิบัติงานของตำรวจจากโทรทัศน์ แล้วให้หาดูว่ามีสิ่งใดบ้างที่ตำรวจปฏิบัติในโทรทัศน์ที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่ตำรวจจริงๆ ปฏิบัติ (ที่เล่ามา) เป็นต้น
เกณฑ์การประเมินงานที่ให้ผู้เรียนปฏิบัติ (Criteria for performance tasks)
เกณฑ์ในการประเมินงานที่ให้ผู้เรียนปฏิบัติ มีดังนี้ (McMillan, 2001 : 211)
1. ความสำคัญ (Essential) : งานต้องมีอยู่ในหลักสูตร และ เป็นตัวแทนของ
ความคิดที่ยิ่งใหญ่ (big idea)
2. สภาพจริง (Authentic) : งานต้องใช้กระบวนการปฏิบัติที่เหมาะสม และ
นักเรียนพอใจกับงานนั้นด้วย
3. คุณค่า (Rich) : งานต้องมีคุณค่า สามารถนำไปใช้หรือแก้ปัญหาอื่นๆ
ได้ด้วย และมีความเป็นไปได้หลายอย่าง
4. น่าสนใจ (Engaging) : เป็นงานที่ผู้เรียนอยากทำ และรู้สึกชื่นชมงานนั้น
5. ได้ปฏิบัติ (Active) : นักเรียนเป็นผู้ปฏิบัติตัดสินใจ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
และได้หาวิธีการสร้าง และ ใช้ความเข้าใจเป็นอย่างมาก
6. เป็นไปได้ (Feasible) : งานต้องสามารถทำเสร็จในเวลาที่กำหนดให้ในโรงเรียน
หรือบ้าน นักเรียนสามารถทำได้ และมีความปลอดภัย
7. ใช้ดุลพินิจ (Equitable) : งานต้องพัฒนาความคิดหลายอย่าง และ ส่งเสริมเจตคติ
ทางบวก
8. เปิดกว้าง (Open) : งานเป็นสิ่งที่มากกว่าการหาคำตอบที่ถูก 1 คำตอบ
ใช้วิธีการหลายวิธี และมีวิธีที่จะสร้างได้สำหรับ
นักเรียนทุกคน
ประเภทของการทดสอบภาคปฏิบัติ (Type of performance tests)
การทดสอบภาคปฏิบัติ เป็นการวัดทักษะความสามารถของคน โดยการวัดจะเน้นวิธีการ
(process) และ ผลผลิต (product) โดยการวัดมี 5 ลักษณะ ดังนี้
1. การปฏิบัติงานโดยข้อเขียน ( Paper and pencil performance)
2. การระบุชื่อและกระบวนการปฏิบัติ (Identification test)
3. การสร้างสถานการณ์จำลอง (Simulated performance)
4. การกำหนดงาน (Work sample)
5. การทดสอบจากสถานการณ์จริง (Authentic performance)
1. การทดสอบภาคปฏิบัติงานด้วยข้อเขียน ( Paper and pencil performance)
การทดสอบภาคปฏิบัติในลักษณะนี้ จะแตกต่างจากการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยการทดสอบภาคปฏิบัตินี้เน้นในการประยุกต์ความรู้และทักษะ ที่เรียนมา มาประยุกต์กับสถานการณ์ใหม่ ลักษณะของการทดสอบนั้นจะให้นักเรียนได้มีการวางแผน การเสนอโครงการ แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติจริง ตัวอย่างงานที่ให้ทำ เช่น จงสร้างแบบบ้านประหยัดพลังงาน จงเขียนวงจรไฟฟ้าบนกระดาษ จงสร้างแผนที่การท่องเที่ยวของจังหวัด จงสร้างแบบตรวจสอบรายการ (Checklist) สำหรับประเมินการอ่านของตนเอง เป็นต้น การประเมินควรใช้ประเภทแยกเป็นด้าน ๆ (Trait-analytic) โดยพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ความรอบรู้เกี่ยวกับงาน ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แผนการดำเนินการ (กระบวนการและยุทธวิธีและการส่งงานตรงเวลา เป็นต้น
2. การทดสอบภาคปฏิบัติโดยให้ระบุชื่อ (Identification test)
เป็นการทดสอบที่ให้ระบุชื่อ เครื่องมือ หรือชิ้นส่วนของอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมทั้ง ระบุหน้าที่ของสิ่งเหล่านี้ด้วย รวมทั้งความสามารถในการใช้และเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับงานเช่น ให้ฟังเสียงดนตรีแล้วตอบว่าเป็นเครื่องดนตรีประเภทใด และ เป็นเสียงโน้ตตัวใด ถ้าหลอดไฟฟ้า (ฟลูออเรสเซนต์) ไม่ติด มีสาเหตุมาจากอะไร และให้ระบุถึงเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในการซ่อมแซมด้วย ให้นักเรียนฟังเสียงการทำงานของเครื่องจักรกลหรือเครื่องยนต์ที่ชำรุด แล้วให้ระบุส่วนที่ชำรุดของเครื่องจักรกลนั้น พร้อมทั้งระบุกระบวนการซ่อมบำรุงด้วย ให้บอกชื่อของชิ้นส่วนหรือสิ่งที่เห็นจากกล้องจุลทัศน์ ให้บอกชื่อสารเคมีที่อยู่ในหลอดทดลองพร้อมทั้งบอกสมบัติของสารด้วย ให้บอกถึงกระบวนการแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์ เป็นต้น เกณฑ์การให้คะแนนควรเป็น 0 - 1 คือ ตอบถูกหรือปฏิบัติได้ ได้ 1 คะแนน แต่ถ้าตอบผิด หรือปฏิบัติผิด ได้ 0 คะแนน
3. การทดสอบภาคปฏิบัติจากสถานการณ์จำลอง (Simulated performance)
การทดสอบแบบนี้ เนื่องจากไม่สามารถที่จะนำผู้เรียนไปทดสอบภาคปฏิบัติกับสถานการณ์จริงใด้ อาจจะเนื่องจากมีอันตราย มีเวลาจำกัด มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์จำกัด เป็นต้น จำเป็นต้องกำหนดสถานการณ์ขึ้นมาให้คลายคลึงกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด เช่น การฝึกขับรถยนต์จากจอภาพ การฝึกโดร่มจากหอ การฝึกขับเครื่องบินจากคอมพิวเตอร์ สำหรับการประเมินการฝึกทักษะจากสถานการณ์จำลองนั้น ควรประเมินทั้งกระบวนการ (Process) และผลงาน (Product) โดยประเมินจากการเตรียมอุปกรณ์ (ถ้าผู้สอบต้องเตรียมมาเอง) กระบวนการทำงานทั้งการใช้และการวางและเก็บเครื่องมือได้ถูกที่ในขณะปฏิบัติงาน ผลงานเสร็จและเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่ และการให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานกลุ่ม การจัดเก็บ บำรุงรักษา และทำความสะอาดเครื่องมือและสถานที่ปฏิบัติงาน
4. การทดสอบจากตัวอย่างงาน ( Work sample performance)
เป็นการทดสอบการปฏิบัติจากตัวอย่างงาน หรือสถานการณ์จริงที่ครูต้องคอยกำกับดูแลเช่น การขับรถบนถนนโดยมีครูนั่งประกบ การให้ผู้เรียนสร้างเก้าอี้ 1 ตัวโดยใช้วัสดุอุปกรณ์ตามที่กำหนดและสร้างตามขนาดที่กำหนดให้ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ การปฏิบัติงานในวิชาชีพขั้นต้น เช่น งานประดิษฐ์ งานเกษตร งานบ้าน เป็นต้น ในการประเมินผลนั้น ควรประเมินทั้งวิธีการ (Process) และผลงาน (Product) รวมทั้ง การจัดเตรียมอุปกรณ์ และ ลักษณะนิสัยการทำงาน ด้วย
5. การทดสอบจากสถานการณ์จริง (Authentic Performance)
เป็นการให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติงานจากสภาพจริง หรือคล้ายจริงมากที่สุด เพื่อต้องการให้ผู้เรียนได้มีทักษะในการปฏิบัติ ให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน และสามารสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง สามารพพัฒนาชีวิตของตนเองได้ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยสิ่งที่ควรเน้น คือ การได้มีโอกาสเลือกแนวทางปฏิบัติด้วยตนเอง ผู้เรียนมีการประยุกต์ความรู้มาใช้ในการปฏิบัติงาน โดยอาจจะประยุกต์ใช้ความรู้ตรง ๆ (use knowledge) ปรับปรุงบ้างเล็กน้อย (apply knowledge) หรือ ปรับแต่งและพัฒนาระบบ (Enhance knowledge) การประเมินการปฏิบัติงานจากสภาพจริง ควรประเมินกระบวนการทำงาน ผลงาน และลักษณะนิสัย ตลอดจนคุณธรรมในการปฏิบัติงาน
วิธีการสร้างเครื่องมือวัดภาคปฏิบัติ
การสร้างเครื่องมือวัดภาคปฏิบัติ มีขั้นตอนในการสร้างดังนี้
1. วิเคราะห์สาระการเรียนรู้ และจุดประสงค์การเรียนรู้ที่คาดหวัง
ผู้สอนต้องวิเคราะห์สาระ และมาตรฐานการเรียนรู้ จากหลักสูตร เพื่อกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังหรือจุดประสงค์การเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเครื่องมือวัด เช่น
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ประกอบด้วย
สาระที่ 1 การดำรงชีวิตและครอบครัว เป็นสาระที่เกี่ยวกับการทำงานในชีวิตประจำวันในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม ว่าด้วยงานบ้าน งานเกษตร งานช่าง งานประดิษฐ์ และงานธุรกิจ
สาระที่ 2 การอาชีพ เป็นสาระเกี่ยวกับหลักการ คุณค่า ประโยชน์ของการประกอบอาชีพสุจริต ตลอดจนการเห็นแนวทางในการประกอบอาชีพ ฯลฯ
จากการวิเคราะห์สาระและมาตรฐานเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี จะพบว่า สามารถเขียนเป็นผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เช่น
1. เพื่อให้นักเรียนเข้าใจ มีทักษะ มีจิตสำนึกในการใช้พลังงาน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
2. เพื่อให้นักเรียนสามารถทำงานบ้าน เช่น การรักษาความสะอาดบ้าน การซักผ้า ฯลฯ
3. เพื่อให้นักเรียนสามารถทำงานเกษตร เช่น ปลูกฝักสวนครัวปลอดสารพิษ ฯลฯ
4. เพื่อให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการทำงานและต่องาน ฯลฯ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
สาระที่ 1 ทัศนศิลป์
สาระที่ 2 ดนตรี
สาระที่ 3 นาฏศิลป์
มาตรฐานการเรียนรู้สารที่ 1 (ทัศนศิลป์)
มาตรฐาน ศ 1.1 สร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ตามจิตนาการ และความคิดสร้างสรรค์
วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์คุณค่างานทัศนศิลป์ ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่องานศิลปะอย่างอิสระ ชื่นชม และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
จากการวิเคราะห์สาระและมาตรฐานเรียนรู้ของกลุ่มศิลปะ จะพบว่า สามารถเขียนเป็นผลการเรียนรู้ที่คาดหวังได้ เช่น
1. เพื่อให้นักเรียนสามารถสร้างงานทัศนศิลป์ตามจิตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ เช่น การวาดภาพลายเส้น ภาพสีน้ำ ภาพสีน้ำมัน การปั้น การจัดสวนถาดขนาดเล็ก ฯลฯ
2. เพื่อให้นักเรียนสามารถวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์คุณค่างานทัศนศิลป์ และ ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่องานศิลปะอย่างอิสระได้
3. เพื่อให้นักเรียนสามารถนำศิลปะไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ฯลฯ
กรณีที่สถานศึกษาหรือครูได้กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้แล้ว อาจจะดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดภาคปฏิบัติในขั้นตอนต่อไปได้ แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่กำหนดไว้ สามารถกำหนดเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ย่อยและนำไปสู่การวัดภาคปฏิบัติได้อีกหรือไม่ ถ้าสามารถวัดได้ ขั้นตอนนี้สามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินการให้เหมาะสมได้
2. เลือกจุดประสงค์ที่สามารถสร้างเครื่องมือวัดภาคปฏิบัติ
พิจารณาจุดประสงค์หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ว่าข้อใด หรือส่วนใดบ้าง ที่สามารถสร้างเครื่องมือวัดภาคปฏิบัติได้ ในที่นี้พบว่า กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีผลการเรียนรู้ที่คาดหวังข้อ 2 และ 3 สามารถสร้างได้ ส่วนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังข้อ 1 และ 2 สามารถสร้างได้
3. กำหนดรูปแบบของเครื่องมือวัดภาคปฏิบัติ
เครื่องมือที่ใช้ในการวัดภาคปฏิบัติ มีหลายประเภท ได้แก่ การตรวจสอบรายการ (Checklist) แบบมาตราวัดประมาณค่า (Rating scale) แบบสังเกต (Observations) การจัดอันดับ (Ranking) การรายงานตนเอง (Self report) ฯลฯ พิจารณาเครื่องมือให้เหมาะสมกับงานที่ให้ปฏิบัติ เช่นงานบ้าน นักเรียนต้องไปปฏิบัติที่บ้าน ดังนั้น เครื่องมือที่เหมาะสมควรเป็น แบบรายงานตนเอง งานปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษอาจใช้แบบสังเกต หรือ แบบตรวจสอบรายการ งานจัดสวนถาดขนาดเล็ก อาจใช้แบบตรวจสอบรายการหรือมาตราวัดประมาณค่า เป็นต้น
4. สร้างเครื่องมือวัดภาคปฏิบัติ
ในการสร้างเครื่องมือวัดภาคปฏิบัตินั้น ต้องสร้างแบบที่ได้เลือกไว้ในข้อ 3 พร้อมทั้งกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนและเกณฑ์การประเมินด้วย โดยอาจจะใช้เกณฑ์การให้คะแนนแบบภาพรวมหรือแบบแยกเป็นด้านๆ ก็ได้ ตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นการให้คะแนนแบบแยกเป็นด้านๆ
จากแบบทดสอบนี้ ครูหรือผู้ดำเนินการสอบต้องเตรียมพื้นที่ ที่ให้นักเรียนทำความสะอาดที่มีพื้นที่เท่าๆ กัน มีความสกปรกพอๆ กัน นอกจากนี้ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้ครบรวมทั้งอุปกรณ์ที่ให้นักเรียนเลือกใช้ตามเกณฑ์การให้คะแนนทุกระดับ
แบบบันทึกคะแนนการวัดภาคปฏิบัติ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี มาตรฐานการเรียนรู้…….....
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ข้อ ...................ระดับชั้น…………………….
หัวข้อประเมิน
ขื่อ – สกุล การเลือกใช้อุปกรณ์ ขั้นตอนการทำ
ความสะอาด การใช้เวลา การทำความสะอาดและเก็บรักษาอุปกรณ์ ผลงาน รวม สรุปการประเมิน
1…………………………....
2……………………………
3…………………………....
ฯลฯ ……
……
……
……
……
……
……
……
……
……
……
……
……
……
……
………
………
………
.........
..........
.........
เกณฑ์การให้คะแนนและการประเมิน
1. หัวข้อการประเมิน พิจารณาจาก
1.1 การเลือกใช้อุปกรณ์
1.2 ขั้นตอนการทำความสะอาด
1.3 การใช้เวลา
1.4 การทำความสะอาดและการเก็บรักษาอุปกรณ์
1.5 ผลงาน
2. เกณฑ์การให้คะแนน
ผู้ประเมินสังเกตการณ์ปฏิบัติของผู้ถูกประเมิน แล้วให้คะแนนแต่ละหัวข้อเป็น 3 ระดับ ดังนี้
2.1 การเลือกใช้อุปกรณ์
ระดับ 3 เลือกใช้อุปกรณ์ได้ครบและเหมาะสม
อุปกรณ์ครบ คือ ไม้กวาด ภาชนะใส่น้ำ และ ผ้าขี้ริ้ว
สำหรับความเหมาะสมพิจารณาจาก
ไม้กวาด พิจารณาควบคู่กับพื้นที่ที่ทำความสะอาด เช่นพื้นไม้ใช้
ไม้กวาดชนิดอ่อน พื้นปูนใช้ไม้กวาดชนิดอ่อน หรือไม้กวาด
ทางมะพร้าว ทั้งนี้ให้พิจารณาถึงคุณภาพของไม้กวาดด้วย
ภาชนะใส่น้ำ เหมาะสม (เช่น ถังน้ำ กะละมัง) ขนาดไม่ใหญ่หรือ
เล็กเกินไป ไม่รั่ว
ผ้าขี้ริ้ว นุ่ม ซับน้ำได้ดี สะอาด ไม่เปื่อยยุ่ย
ระดับ 2 เลือกใช้ไม่ครบ 1 อย่าง หรือครบแต่ไม่เหมาะสม 1 อย่าง
ระดับ 1 เลือกใช้ไม่ครบ 2 อย่าง หรือครบแต่ไม่เหมาะสม 2 อย่างขึ้นไป
2.2 ขั้นตอนการทำความสะอาด
ระดับ 3 ทำครบและถูกต้องทุกขั้นตอน ดังนี้
1) กวาด โดยคำนึงถึงทิศทางลม
2) ถู เป็นช่อง ไม่ถูเป็นทางยาว คำนึงถึงทิศทาง และมีการ
ทำความสะอาดผ้าขี้ริ้วอยู่เสมอ ผ้าไม่เปียกจนเกินไป
3) กวาดหรือถูซ้ำ กรณีหรือบริเวณที่ไม่สะอาด
ระดับ 2 ทำครบแต่ไม่ถูกต้อง 1 ขั้นตอน
ระดับ 1 ทำไม่ครบ 1 ขั้นตอน หรือ ครบแต่ไม่ถูกต้อง 2 ขั้นตอน
2.3 การใช้เวลา
ระดับ 3 ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที
ระดับ 2 ใช้เวลา 11-13 นาที
ระดับ 1 ใช้เวลามากกว่า 13 นาที
2.4 การทำความสะอาดและเก็บรักษาอุปกรณ์
ระดับ 3 การทำความสะอาดและเก็บรักษาอุปกรณ์ครบและถูกต้อง ดังนี้
เก็บไม้กวาดในที่เก็บและถูกวิธี ผ้าขี้ริ้วซักจนสะอาด บิดให้แห้ง
และตากบนราว ภาชนะล้างและคว่ำไว้ในที่เหมาะสม
ระดับ 2 การทำความสะอาดและเก็บรักษาอุปกรณ์ครบแต่ไม่ถูกต้อง
1 รายการ
ระดับ 1 การทำความสะอาดและเก็บรักษาอุปกรณ์ไม่ครบ 1 รายการ หรือครบแต่ไม่ถูกต้อง 2 รายการ -
2.5 ผลงาน
ระดับ 3 สะอาด แห้ง และปราศจากฝุ่นและเศษขยะ
ระดับ 2 สะอาด และปราศจากฝุ่นและเศษขยะ แต่เปียก หรือสะอาด
และแห้ง แต่มีฝุ่นหรือเศษขยะ 1 จุด
ระดับ 1 มีฝุ่นหรือเศษขยะมากกว่า 1 จุด
3. เกณฑ์การประเมิน
ระดับดี ได้คะแนนรวมระหว่าง 13 – 15 คะแนน
ระดับพอใช้ ได้คะแนนรวมระหว่าง 10 – 12 คะแนน
ระดับปรับปรุง ได้คะแนนรวมไม่ถึง 10 คะแนน
5. หาคุณภาพของเครื่องมือวัดภาคปฏิบัติ
การหาคุณภาพของเครื่องมือวัดภาคปฏิบัติ มีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
1. หาความตรง (Validity) โดยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวัดผลการศึกษาและเนื้อหาวิชา พิจารณาความเหมาะสมของเครื่องมือ และเกณฑ์ แล้วนำมาปรับปรุง แก้ไขให้เหมาะสม
2. หาความเที่ยง (Reliability) หลังจากที่ได้ปรับปรุงเครื่องมือตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญแล้ว นำเครื่องมือไปทดลองใช้กับนักเรียนหลายๆ ครั้ง โดยครูผู้สอนและผู้เชี่ยวชาญสังเกตให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด แล้วหาค่าความเที่ยงของผู้ประเมิน (Interrater Reliability)
3. ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม บางครั้งอาจจะต้องทำตามข้อ 1 และ 2 อีกหลายครั้ง
6. จัดพิมพ์เครื่องมือและคู่มือฉบับสมบูรณ์
พิมพ์เครื่องมือวัดภาคปฏิบัติเป็นรูปเล่ม พร้อมทั้งมีคู่มืออธิบายวิธีการใช้ให้ชัดเจน วิธีการเขียนคู่มือการใช้เครื่องมือวัดภาคปฏิบัติแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 คำชี้แจง ประกอบด้วย สิ่งที่จะประเมิน จุดประสงค์การเรียนรู้
คำอธิบายทั่วไป - หลักการ ขอบเขต คำสั่ง วิธีใช้ เวลาในการสอบ วิธีดำเนินการสอบ
- การเตรียมปกรณ์ สถานที่ ครู นักเรียน ฯลฯ
การดำเนินการสอบ - วิธีการสอบ
การประเมิน - การให้คะแนน สรุป แปลผล บันทึกผลการประเมิน
การรายงานผล และข้อเสนอแนะ - สรุปผล และเสนอแนะ
ส่วนที่ 2 เครื่องมือวัด คำสั่ง และแบบบันทึกผลการให้คะแนนและผลการปฏิบัติ
“ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้”
http://www.google.co.th/search?q=%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%93&hl=th&prmd=iv&ei=fJoFTZ_JE4e8rAe4n4yRDw&start=10&sa=N
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในชั้นเรียน
“ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในชั้นเรียน ตามหลักสูตรแกนกลาง การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551”
http://www.google.co.th/search?hl=th&q=%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%93&aq=f&aqi=&aql=&oq=&gs_rfai=