ราสโคนิคอฟ ตัวเอกของนิยายเรื่อง Crime and Punishment เป็นฆาตกร ส่วนนิยายเล่มแรกของอัลแบร์ กามูส์ A Happy Death ก็ เป็นเรื่องของตัวเอกที่เป็นฆาตกรอีกเช่นกัน หนังสือสองเล่มนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร กามูส์คือหนึ่งในนักเขียนอัตถิภาวนิยม ซึ่งสืบทอดปรัชญานี้มาจากดอสโตเยฟสกี้ และนิทเช่ ทำไมนิยายอัตถิภาวนิยมถึงต้องมีตัวเอกเป็นฆาตกรด้วย (The Stranger ผลงานชิ้นเอกของกามูส์ ซึ่งเป็นหนังสือพี่น้องกับ A Happy Death ก็มีตัวเอกฆ่าคนตายอีกเช่นกัน) เพราะอัตถิภาวนิยมคือปรัชญาของปัจเจกซึ่งต้องการฉีกตัวเองจากแบบแผน ปฏิบัติ ไม่ว่าแบบแผนปฏิบัตินั้นจะอยู่ในรูปแบบของวิถีประชา หรือศีลธรรม และคงไม่มีการกระทำใดอีกแล้วที่ทลายกำแพงศีลธรรมได้อย่างชัดเจน เท่ากับการลิดรอนชีวิตผู้อื่น
ผมอยากชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างนิยามสองเล่มนี้ Crime and Punishment ถูกเขียนในปี 1866 สมัยที่ Thus Spoke Zarathustra ของ นิทเช่เพิ่งถูกตีพิมพ์ อัตถิภาวนิยมยังเป็นปรัชญาทารก ราสโคนิคอฟของดอสโตเยฟสกี้ ก่อคดีฆาตกรรมเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของตัวเอง และสุดท้ายรับผลกรรมจากการกระทำดังกล่าว (นักวิจารณ์หลายคน “ติ” ตอนจบของ Crime and Punishment ว่าดอสโตเยฟสกี้ทำลายความเป็นปัจเจกของราสโคนิคอฟ โดยให้เขากระโดดกลับเข้าไปหาอ้อมกอดของสังคม) กามูส์เขียน A Happy Death ในปี 1936 เมื่อ ชาวยุโรปคุ้นเคยกับงานเขียนของนิทเช่ และดอสโตเยฟสกี้เป็นอย่างดี เมื่ออัตถิภาวนิยมกลายเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญากระแสหลัก เมอซัวต์ ตัวเอกของ A Happy Death ฆ่าคนตายเพื่อชิงทรัพย์ และผลลัพท์แห่งการกระทำของเขาคือความสุขซึ่งเจ้าตัวปรารถนา
นิยายเล่มนี้แบ่งเป็นสองส่วน Natural Death และ Conscious Death ส่วน แรกเล่าชีวิตอันไร้สุขของแพทริก เมอซัวต์ เสมียนรับจ้าง ทำงานตัวเป็นเกลียว มีรายได้พออยู่พอกิน ไม่แร้นแค้นยากจน แต่ก็ไม่มีความสุข อาจมีบ้างที่เมอซัวต์หึงหวงริษยา หรือปลาบปลื้มภาคภูมิในเหล่าแม่สาวซึ่งเขาควงไปไหนต่อไหน แต่ "เขามิได้ถูกสร้างมาเพื่อให้รักใครเป็น" เมอซัวต์ "ดั้งด้นตามหาความสุข ซึ่งลึกๆ เขาทราบดีว่าไม่มีวันตกถึงมือ" แต่ทุกสิ่งเปลี่ยนไปเมื่อมาธาร์ ผู้หญิงคนล่าสุดของเขา แนะนำให้เมอซัวต์รู้จักกับซาเกรียส ชายพิการผู้เป็นคนรักเก่าของเธอ ซาเกรียสสอนชายหนุ่มให้รู้ว่า คนเราจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อมีเวลา และจะมีเวลาได้ก็ต่อเมื่อมีเงิน วันรุ่งขึ้น เมอซัวต์ไปหาซาเกรียส จ่อปืนยิงศีรษะชายพิการ และขโมยเงินทองในตู้เซฟ
Conscious Death ว่าด้วย การค้นหาความสุข ขณะความสุขของราสโคนิคอฟ คือได้ปลดเปลื้องความผิดซึ่งแบกไว้ในใจ แทบไม่มีสักครั้งที่เมอซัวต์หวนระลึกบาปของตน ในโลกของเมอซัวต์ (และกามูส์) ราวกับว่าการสังหารคนพิการเพื่อแย่งชิงทรัพย์ไม่นับว่าเป็นสิ่งผิด เสียด้วยซ้ำ เมอซัวต์ไม่ใช่คนน่าคบหา หรือพระเอกแสนดี (กระทั่งมาวซัวต์ใน The Stranger ยังถูกมองอย่างน่าเห็นใจได้ว่าเขาตกเป็นเหยื่อวิถีประชา และกระบวนการยุติธรรม) แต่คนอ่านกลับเกลียดชายหนุ่มไม่ลง อาจเพราะสิ่งที่เขาไขว่คว้า เจ้าตัวความสุขนั้น คือสิ่งเดียวกับที่อยู่ในใจเราทุกคนก็ได้
ทำไมมนุษย์ถึงรู้จักความสุขได้ยากเย็นนัก เพราะในโลกนี้เต็มไปด้วยหลายสิ่งซึ่งใกล้เคียงกันอย่างน่าเศร้า และน่าสับสน ระหว่างความรัก และความปรารถนา ระหว่างความสุข และความอิ่มเอม เมอซัวต์บอกกับเพื่อนว่า "มันผิดพลาดตั้งแต่เธอคิดจะเลือกแล้วละ ตั้งแต่เธอคิดจะทำตามใจตัวเอง ตั้งแต่เธอเชื่อว่ามีเงื่อนไขนำไปสู่ความสุข สิ่งเดียวที่สำคัญ สิ่งเดียวเลยเท่านั้นคือความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะมีความสุข (will to happiness)" ประโยคนี้สะท้อนคำพูดของนิทเช่ สิ่งสำคัญไม่ใช่ "อำนาจ" แต่เป็น "ปราถนาแห่งอำนาจ" (Der Wille zur Macht) เช่นเดียวกันที่ Eric Fromm เคยพูดไว้ใน The Art of Loving ว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่ "ความรัก" แต่เป็น "ปรารถนาในความรัก"
ผม ชอบการสร้างฉากของนิยายเล่มนี้ แม้เต็มไปด้วยรายละเอียด แต่ไม่รู้สึกว่ากามูส์จงใจปรุงแต่งภาษาสวยๆ เพียงเพื่อขับกล่อมผู้อ่าน สิ่งแวดล้อมคือกุญแจสำคัญในปรัชญาความสุขตามแบบฉบับกามูส์ หลังก่อคดี และหลบหนีไปอยู่ปราก เมอซัวต์ตระหนักว่าเขาไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขในเมืองแปลกถิ่น ท่ามกลางใบหน้า และตึกรามบ้านช่องซึ่งเขาไม่คุ้นเคย เขาถูกหลอกหลอนด้วยกลิ่นแตงกวาดอง จนตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่ในเมืองที่เขาก่อคดีฆาตกรรม
ความสุขคือการรายล้อมตัวเองด้วยสิ่งซึ่งเราคุ้นเคย แต่ไม่แน่ว่าสิ่งซึ่งเราคุ้นเคยนั้นต้องรวมเพื่อนมนุษย์เข้าไป ด้วย นักอัตถิภาวนิยมรู้ดีว่าการแขวนตัวเองไว้กับผู้คนรอบข้างย่อมนำมา ซึ่งความทุกข์ ชีวิตของเมอซัวต์จึงตีกลับไปกลับมาระหว่างสันโดษ และโหยหาเพื่อนผู้รู้ใจ เมอซัวต์สิ้นลม หายใจในอ้อมอกผู้หญิง ซึ่งเขายอมแต่งงานด้วย เพียงเพราะรู้ว่านั่นคือความปรารถนาของหล่อน เมื่อถึงจุดหนึ่งในชีวิต เมอซัวต์เลิกยึดติดกับคำว่ารักไปแล้ว ความตายของเขาใช่ "ความตายอันเปี่ยมสุข" ไหม
นั่นคือคำถามซึ่งกามูส์ฝากทิ้งไว้ให้คนอ่าน พวกเราทุกคน
http://en.wikipedia.org/wiki/Erich_Fromm จาก The Art of Loving (1956)
Tuesday, December 7, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment