Tuesday, December 7, 2010

ทางสายกลางของอาริสโตเติล

กับมัชฌิมาปฏิปทาในพระพุทธศาสนาเถรวาท

ทางสายกลางของอาริสโตเติลคืออะไร ?

ทางสายกลางในทรรศนะของอาริสโตเติล คือ ค่า เฉลี่ยที่เป็นความพอเหมาะพอดีถูกต้องเหมาะสมแก่บุคคลในแต่ละกรณี ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ จำต้องมุ่งไปที่ทางสายกลางเพื่อความอยู่รอดและความสมดุลแห่งชีวิต ทาง สายกลางคือจุดกึ่งกลางระหว่างสิ่งที่มากเกินไปกับสิ่งที่ขาดพร่อง เช่น จุดกึ่งกลางของวัตถุก็คือตำแหน่งที่อยู่ห่างจากที่สุดแต่ละข้างในระยะ ตำแหน่งที่เท่ากันนั่นเอง ในวัตถุสิ่งของ ถ้า ๑๙ เป็นจำนวนข้างมาก ๑ เป็นจำนวนข้างน้อย จุดกึ่งกลางระหว่าง ๑๙ กับ ๑ ก็คือ ๑๐ เพราะจำนวน ๑๐ มากกว่า ๑ และน้อยกว่า ๑๙ ในอัตราที่เท่ากัน

๘ ๗ ๖ ๕ ๔ ๓ ๒ ๑ ---------- ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘
1 - O O O O O O O O - 10 - O O O O O O O O - 19

ในทรรศนะของอาริสโตเติล ทางสายกลางที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์ เราไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่า ตำแหน่งหรือจุดใดคือจุดที่เรียกว่า “ทางสายกลางของแต่ละบุคคล” เพราะจุดที่เป็นทางสายกลางของแต่ละบุคคลไม่มีเกณฑ์มาตรฐานแน่นอนตายตัว แต่ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและปริบทแห่งสังคมของแต่ละบุคคล จุดที่เป็นทางสายกลางของบุคคลหนึ่ง อาจจะเป็นจุดที่ขาดพร่องหรือมากเกินไปของอีกบุคคลหนึ่งก็ได้ เช่น

ก๊วยเตี๋ยวจำนวน ๓ ชามอาจจะมากเกินไป และก๊วยเตี๋ยวจำนวน ๑ ชามอาจจะน้อยเกินไปสำหรับนายวิชัย เพราะนายวิชัยมีความจำเป็นต้องบริโภคมื้อละ ๒ ชาม ในขณะที่ก๊วยเตี๋ยวจำนวน ๒ ชามอาจไม่พอดีสำหรับนายวิรัตน์ก็ได้ เพราะนายวิรัตน์มีความจำเป็นต้องบริโภค มื้อละ ๓ ชาม โดยมีจำนวน ๒ ชามเป็นจำนวนข้างน้อย และ ๔ ชามเป็นจำนวนข้างมาก

เงินเดือน ๒,๐๐๐ บาทอาจจะเป็นจำนวนที่เหลือเฟือและเงินเดือนจำนวน ๑,๐๐๐ บาทอาจจะเป็นจำนวนที่น้อยเกินไปสำหรับนางสาวนิตยาผู้ทำหน้าที่เป็นสาวโรงงาน ในชานเมืองแห่งหนึ่ง เพราะเธอมีความจำเป็นต้องใช้สอยและเก็บไว้บ้างเพียงเดือนละ ๑,๕๐๐ บาทเท่านั้น ในขณะเดียวกัน เงินจำนวน ๑,๕๐๐ บาทอาจไม่พอค่ากาแฟรายเดือนของนายโสภณผู้เป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่กลาง เมืองหลวงก็ได้

ในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี การใช้ช้อนกลางหรือใช้ช้อนตักข้าวเหนียวเข้า ปาก อาจจะเป็นเรื่องหยุมหยิมเจ้าอนามัยเกินไป และการยกจานเอาปากคาบข้าวเหนียวจากจาน อาจจะเป็นกิริยาที่หยาบกระด้างเกินไปสำหรับชาวชนบทอีสาน เพราะพวกเขานิยมใช้มือสะอาดพอควรปั้นข้าวเหนียวใส่ปาก และไม่นิยมใช้ช้อนกลาง ในขณะที่กิริยาลักษณะแบบนี้เอามาใช้กับสังคมเมืองหลวงไม่ได้

การประกอบพิธีมงคลสมรสที่มีขั้นตอนซับซ้อนตามหลักศาสนาฮินดู อาจเป็นเรื่องหยุมหยิมยุ่งยากเกินไปสำหรับชาวตะวันตกหรือแม้แต่คนที่นับถือ ศาสนาอื่น ในขณะเดียวกัน การประกอบพิธีมงคลสมรสที่มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน เพียงแต่เชิญแขกมาร่วมงานและกล่าวคำปฏิญญาต่อหน้าพระก็อาจจะเป็นเรื่องที่ มักง่ายเกินไปสำหรับชาวฮินดูเช่นกัน ถามว่า “จุดไหนที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นจุดกึ่งกลางพอดีเมื่อคน ๒ กลุ่มนี้มาอยู่รวมกัน ?”

สมมติเอาพิธีกรรมของฮินดูเป็นเลข ๑๐ พิธีกรรมของศาสนาอื่น ๆ เป็นเลข ๑ จุดกึ่งกลางระหว่างเลข ๑๐ กับเลข ๑ ก็คือ ๕.๕ (๑+๒+๓+๔+๕+=๕.๕=+๖+๗+๘+๙+๑๐) เพราะ ๕.๕ อยู่ห่างจาก ๑ และ ๑๐ ในระยะทางที่เท่ากัน บุคคลหนึ่ง สถานการณ์หนึ่ง ความคิดหรือการกระทำหนึ่งจะมี ๒ ลักษณะเสมอเมื่อมีการเปรียบเทียบกับ ๒ สิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม
คนธรรมดาคนหนึ่งดูเหมือนจะหยาบกระด้างเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ขลาดกลัว และดูเหมือนจะขลาดกลัวเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่หยาบกระด้าง ใน ทำนองเดียวกัน คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในระดับธรรมดาดูเหมือนจะเป็นปล่อยตัวตามอำเภอใจเกินไป เมื่อเทียบกับคนที่กระเหม็ดกระแหม่ และคนที่ชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ดูเหมือนจะเป็นคนสุรุ่ยสุร่ายเมื่อเทียบกับคน ที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายสมถะและดูเหมือนว่าเป็นการดำรงชีวิตอยู่ใน ทางเรียบง่ายสมถะเมื่อเทียบกับคนที่สุรุ่ยสุร่าย

ความเป็นกลางมีโอกาสที่จะเอียงไปด้านซ้ายหรือขวาตลอดเวลา อยู่ที่มุมมองและการเปรียบเทียบ เช่น คนที่มีวิถีชีวิตปกติธรรมดา ในสภาวปกติอยู่คนเดียวก็ไม่มีอะไร ถ้ามีคนลักษณะแตกต่างกันอีก ๒ คนมาอยู่ด้วย คนหนึ่งมีนิสัยขลาดกลัว อีกคนหนึ่งมีนิสัยหยาบกระด้าง วิถีชีวิตปกติธรรมดาดูจะไม่ปกติเสียแล้วถ้านำ ไปเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตของสองคนที่มาใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่หยาบกระด้าง คนที่มีนิสัยปกติธรรมดาดูเหมือนจะเป็นขลาดกลัว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ขาดกลัว คนที่มีนิสัยปกติธรรมดาดูเหมือนจะเป็นคนหยาบกระด้าง

ขลาดกลัว ธรรมดา หยาบกระด้าง

ในกรณีอื่น ๆ ก็เหมือนกัน เช่น วิถีชีวิตเรียบง่ายปกติธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่กระเหม็ดกระแหม่ ก็ยังดูเหมือนจะเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่สุรุ่ยสุร่าย ก็ดูเหมือนจะเป็นคนกระเหม็ดกระแหม่

กระเหม็ดกระแหม่ ชีวิตธรรมดา สุรุ่ยสุร่าย

จึงสรุปได้ว่า ทาง สายกลางขึ้นอยู่กับความจำเป็นและบริบทของสังคมของแต่ละบุคคล และไม่มีสถานะแน่นอนตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับกาละ เทศะ บุคคล และบริบททางสังคมอื่น ๆ อีกหลายอย่าง นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับมุมมองเชิงเปรียบเทียบด้านซ้าย ด้านขวา ด้านหน้า ด้านหลัง สภาพสังคมวัฒนธรรม เรื่องจรรยาบรรณ วัฒนธรรมของสังคมแต่ละถิ่นที่และแต่ละยุค ความนิยมหรือไม่นิยมในแต่ละเรื่องของคนในชุมชนนั้น ๆ

ทางสายกลาง กาลเวลา และสถานที่

เนื่องจากอาริสโตเติลเป็นบิดาแห่งรัฐศาสตร์ ดังนั้น อาริสโตเติลจึงเน้นวิถีชีวิตที่จะอยู่รอดได้อย่างเป็นสุขจริงในสังคมเป็น หลัก สมมติว่า นายศุภชัยเป็นเจ้าของกิจการรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ดำเนินกิจการมาเป็นเวลา ๒๐ ปี วิถีชีวิตของเขาสุขสบายมาตลอดเวลา ๒๐ ปี สร้างผลกำไรพอเลี้ยงตัวและครอบครัวได้โดยไม่เดือดร้อนเสมอมา

ในทรรศนะของอาริสโตเติลถือว่า อาชีพของนายศุภชัยคือจุดที่เป็นทางสายกลางสำหรับเขา เพราะมันทำให้ชีวิตของเขาและครอบครัวสุขสบาย แต่เมื่อถึงปัจจุบัน กิจการของเขาเริ่มประสบปัญหา ค่าวัสดุก่อสร้างแพงขึ้น ค่าแรงงานแพงขึ้น งานรับเหมาก่อสร้างน้อยลง ในระยะ ๒-๓ ปีหลังนี้ เขาประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด

ถามว่า “กิจการของนายศุภชัยยังคงเป็นทางสายกลางสำหรับเขาอยู่หรือไม่ ?”
ตอบว่า “ไม่” เพราะเวลาได้เปลี่ยนแปลงไป สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ทางสายกลางที่เป็นจุดกึ่งกลางย่อมมีสิทธิ์เปลี่ยนไปเป็นที่สุดโต่งข้างน้อย หรือที่สุดโต่งข้างมากได้ หรือสมมติว่า กิจการของศุภชัยมีความจำเป็นต้องย้ายสถานที่ประกอบการ พอย่ายสถานที่ประกอบการ เขาเริ่มประสบภาวะขาดทุนทันที สิ่งที่เคยพอดีสำหรับเขา มาบัดนี้กลับไม่พอดีเสียแล้ว นี่คือคำตอบต่อปัญหาที่ว่า “สายทางกลางของอาริสโตเติลขึ้นอยู่กับกาลเวลาและสถานที่หรือไม่”

ในทรรศนะของอาริสโตเติล ทางสายกลางของแต่ละบุคคลย่อมไม่เหมือนกัน จุดที่เป็นทางสายกลางของนาย ก. จะเอามาใช้กับนาย ข. ไม่ได้ เพราะเป็นไปได้ยากจริง ๆ ที่ความจำเป็นและบริบททางสังคมและสถานะของแต่ละบุคคลจะเหมือนกันทุกอย่าง

สิ่งที่เป็นกลางพอดีย่อม มากกว่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่น้อยกว่า และย่อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่ มากกว่า ถ้าบุคคลกล้าหาญ (A) ดูเหมือนว่าจะเป็นคนหยาบกระด้าง (B) เมื่อเทียบกับบุคคลผู้ขลาดกลัว (C) และดูเหมือนจะเป็นพวกขลาดกลัวเมื่อเทียบกับบุคคลหยาบกระด้าง

เมื่อไม่มีการเปรียบเทียบ ความกล้าหาญ(A) เป็นจุดกึ่งกลางพอดี เป็นทางสายกลางในทรรศนะของอาริสโตเติล แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการเปรียบเทียบ ความเป็นจุดกึ่งกลางพอดีก็อาจเปลี่ยนไป นายวรพลซึ่งเป็นคนใจกว้างดูเหมือนว่าจะเป็นพวกสุรุ่ยสุร่ายเมื่อเทียบกับนาย วีรยุทธ์ซึ่งเป็นคนใจแคบ และนายวรพลนี่แหละดูเหมือนจะเป็นคนใจแคบเมื่อเทียบ กับนายวีรศักดิ์ที่เป็นคนสุรุ่ยสุร่าย

ใจแคบ ใจกว้าง สุรุ่ยสุร่าย
วีรยุทธ์ วรพล วีรศักดิ์

T--------------------- สุรุ่ยสุร่าย
ใจแคบ --------------------T

มีปัญหาว่า “ความรู้สึกและการกระทำของมนุษย์ทุกอย่างต่างมีจุดกึ่งกลางหรือความพอดีทั้งนั้นหรือไม่ ?” อา ริสโตเติลเองได้ตอบปัญหานี้โดยการเสนอว่า ความรู้สึกและการกระทำที่เป็นความ ชั่วโดยสิ้นเชิงแล้วนั้น ไม่มีทางหาจุดกึ่งกลางที่เป็นความพอดีได้ เช่น กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต บุคคลผู้ทำความชั่วย่อมผิดโดยสถานเดียว เพราะความชั่วเป็นข้อสุดโต่งแล้วโดยอัตโนมัติ อาจจะเป็นข้อสุดโต่งข้างน้อยหรือข้างมากก็ได้ ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่เป็นความพอดีโดยแน่นอนแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องหาจุดกึ่งกลาง เพราะความดีย่อมอยู่ตรงจุดกึ่งกลางแล้วโดยอัตโนมัติ

มีปัญหาว่า ในเมื่อสิ่งที่เป็นความดีโดยแน่นอนไม่จำเป็นต้องหาจุดกึ่งกลาง เพราะมันอยู่ตรงจุดกึ่งกลางแล้วโดยอัตโนมัติ และสิ่งที่เป็นความชั่วโดยแน่นอนแล้วนั้น ย่อมไม่มีจุดกึ่งกลาง ความรู้สึกและการกระทำระดับไหนที่มีจุดกึ่งกลาง และเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องหาจุดกึ่งกลาง ?

อาริสโตเติลกล่าวว่า ความดีทางจริยธรรมย่อมเป็นทางสายกลางระหว่างความชั่ว ๒ อย่าง คือ ความมากเกินไปและความขาดพร่อง ลักษณะความดีทางจริยธรรมก็คือมุ่งไปที่จุดกึ่งกลางระหว่างอารมณ์กับการกระทำ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นพบจุดกึ่งกลาง ซึ่งก็เหมือนกับการหาจุดกึ่งกลางของวงกลมนั่นแหละ

ความดี ๒ ระดับ

อาริสโตเติลไม่ใช่พวกเจ้าลัทธิตกขอบด้านใดด้านหนึ่ง แนวความคิดเชิงปรัชญาจึงค่อนข้างจะประณีประนอมไม่ดื้อดึง อาริสโตเติลแบ่ง ความดีเป็น ๒ ระดับ คือ
๑. ความดีระดับธรรมดา หรือระดับธรรมชาติ
๒. ความดีระดับสมบูรณ์
ความดีระดับธรรมดา ยังไม่สมบูรณ์สูงสุด จำเป็นต้องหาจุดกึ่งกลาง เพราะเป็นเรื่องวิถีชีวิตในโลกิยสังคมของมนุษย์ ซึ่งแต่ละคนต่างมีสภาวะ ความจำเป็น บริบทแห่งสังคมแตกต่างกันออกไป ทุกอย่างในในโลกิยสังคมย่อมมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามกฎแห่ง สังขตธรรม สิ่งที่เป็นจุดกึ่งกลางของนาย ก. ณ ที่นี้เดี๋ยวนี้ เมื่อเปลี่ยนที่เปลี่ยนเวลา อาจไม่ใช่จุดกึ่งกลางก็ได้ สิ่งที่เป็นทางสายกลางของนาย ก. ขณะที่อยู่คนเดียวอาจไม่เป็นทางสายกลางก็ได้เมื่อไปอยู่รวมกับคนอื่น หรือเมื่อเวลาเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไป อาริสโตเติลย้ำตรงจุดนี้ว่า

ถ้า ทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว นั่นย่อมถือเป็นโชคดี ความดีทุกอย่างย่อมมีจุดกึ่งกลางหรือทางสายกลางแล้วโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าเปลี่ยนไปกลายเป็นความไม่ดีและไม่เหมาะสมเมื่อใด เมื่อนั้นจำเป็นต้องหาจุดกึ่งกลาง นี่คือลักษณะของความดีระดับธรรมดา

ข้อความนี้เหมือนกำลังบอกว่า “ไม่มีหนทางใดบนโลกนี้ที่โรยด้วยดอกกุหลาบ” ความเป็นคนโชคดีทุกเวลาและสถานที่ไม่ใช่หาได้ง่าย บางกรณี คนดี สถานที่ดี สิ่งแวดล้อมดี แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่ดี ก็ต้องพยายามหาจุดกึ่งกลางให้ได้ บางกรณี คนดี สถานที่ดี สิ่งที่กำลังทำดี แต่สิ่งแวดล้อมไม่มี ก็ไม่มีจุดกึ่งกลาง ต้องพยายามหากันต่อไป

ความดีระดับสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องหาจุดกึ่งกลาง เพราะสภาพความเป็นสังคมมีน้อย คนที่บรรลุถึงความดีสูงสุดมีสภาพเหมือนกับกลับเข้าไปสู่ต้นแบบดั้งเดิมของ ตัวเอง กลับไปอยู่ในกล่องซึ่งมีสภาพแวดล้อมจัดไว้ลงตัวแล้วสำหรับเขา อาริสโตเติลดู เหมือนจะเชื่อในทฤษฎีแบบที่พลาโตแสดงไว้

บ่อเกิดทางสายกลาง

ในทรรศนะของอาริสโตเติล ความรู้สึกและการกระทำที่เป็นความพอดีเป็นทางสายกลางนั้น เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างความเลว ๒ อย่าง คือ
๑. ความมากเกินไปหรือสิ่งที่มากเกินไป
๒. ความขาดพร่อง หรือสิ่งที่น้อยเกินไป
อาริสโตเติลเน้นความดีอันเป็นคุณธรรมกลางที่มันมาสัมพันธ์กับความเป็นอยู่ใน โลกิยสังคมของมนุษย์ อะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตมนุษย์แต่ละคนเป็นสุขในโลกิยสังคมแห่งรัฐได้อย่างมี ศักดิ์ศรีและคุณค่า สิ่งนั้นถือเป็นจุดกึ่งกลางอันเป็นความพอดีสำหรับชีวิต

ในวิถีชีวิตมนุษย์ระดับสังคมนั้น ทางสายกลางเกิดขึ้นได้โดยการเอาความต้องการของมนุษย์ทุกคนมารวมกันแล้ว หารด้วยจำนวนคนทั้งหมด ผลหารนั่นแหละคือจุดที่เป็นทางสายกลาง ในการอธิบายปรัชญาอาริสโตเติลจึงมักมีผู้นิยมใช้ภาษาสถิติว่า Mean=ค่ามัชฌิมเลขคณิต เช่น เราต้องการทราบว่าอัตราค่าครองชีพโดยเฉลี่ยของคน ๕ คนในเวลา ๑ เดือนเป็นจำนวนเท่าไร ในกรณีที่นาย ก. ใช้ ๕๐๐ บาท นาย ข. ใช้ ๗๐๐ บาท นาย ค. ใช้ ๘๐๐ บาท นาย ง.ใช้ ๘๕๐ นาย จ. ใช้ ๙๐๐ บาท เรารู้ได้โดยการหาค่ามัชฌิมเลขคณิตดังนี้

A + B + C + D + E = X
5
๕๐๐ + ๗๐๐ + ๘๐๐ + ๘๕๐ + ๙๐๐ = ๗๔๐


ค่าครองชีพโดยเฉลี่ยในกรณีนี้คือ ๗๔๐ บาทต่อเดือน ในวิถีชีวิตมนุษย์แบบปัจเจกชน ทางสายกลางเกิดขึ้นได้โดยการรวมความต้องการทั้งหมดของเขาเข้าด้วยกันแล้วหาร ด้วยสภาวะทั้งหมดของเขาเอง นี่คือจุดที่เป็นทางสายกลางในทรรศนะของอาริสโตเติล ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า “เราจะไปถึงจุดที่ว่านี้ได้อย่างไร ?” ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น อาริสโตเติลเสนอเครื่องมือเพื่อนำไปสู่จุดที่ว่านั้นดังนี้

๑. การศึกษา อา ริสโตเติลกล่าวว่า ความเฉลียวฉลาดหาได้จากการศึกษา ส่วนธรรมจรรยาหาได้จากการปฏิบัติ ความเฉลียวฉลาดเป็นสิ่งกลาง ๆ อาจจะเป็นสิ่งที่ดีหรือชั่วก็ได้ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย ความเฉลียวฉลาดที่พัฒนาขึ้นไปสู่สภาวะที่เรียกว่า “เชาวน์ปัญญา” หรือ “พุทธิปัญญา” เท่านั้น จึงจะทำให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกต้องได้

๒. การยับยั้งใจ ความ ไม่ยับยั้งใจถือเป็นความเลว เพราะทำให้พลาดจากความดีอันเป็นกลางไปสู่ที่สุด โต่งข้างมากหรือข้างน้อย การยับยั้งใจเป็นการชะลอการลงมือปฏิบัติเพื่อลด ความเข้มของความรู้สึกและการกระทำให้ลงมาอยู่ในระดับที่พอดี คนที่มีการศึกษาหากไม่มีการยับยั้งใจ ย่อมทำให้ลงมือกระทำอย่างขาดสติ

๓. การไตร่ตรองอย่างรอบคอบ หมาย ถึงการพิจารณา การคิดคำนวณใคร่ครวญอย่างรอบคอบ การพิจารณาอย่างช้า ๆ และลงมือปฏิบัติอย่างเฉียบพลันเมื่อได้ผลสรุปแล้ว อาริสโตเติลกล่าวว่า การ ไตร่ตรองอย่างรอบคอบเป็นเรื่องของความคิดที่ถูกต้อง ยึดหลักเหตุผล คิดโดยกรรมวิธีที่ถูกต้อง การไม่ถึงบทสรุปอย่างเร่งรีบ

เครื่องมือ ๓ ประการนี้ มีลักษณะเป็นบูรณาการ คือ ทั้ง ๓ รวมลงเป็น ๑ จึงจะทำให้ไปถึงจุดที่เป็นทางสายกลางได้

องค์ประกอบของทางสายกลาง

องค์ประกอบของทางสายกลางเป็นหลักตัดสินว่า จุดที่ว่านั้นเป็นทางสายกลางจริงหรือไม่ เพราะในวิถีชีวิตมนุษย์ ความพอดีของนาย ก. อาจเป็นสาเหตุทำให้นาย ข. เดือด ร้อน กรณีอย่างนี้อาจทำให้เกิดความสับสนได้ว่า ความพอดีของนาย ก.เป็นทางสายกลางจริงหรือไม่ องค์ประกอบที่เป็นหลักตัดสินทางสายกลางนั้น มี ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นความรู้สึกและการกระทำในเวลาที่เหมาะสม (at the right time)
๒. เป็นความรู้สึกและการกระทำสิ่งที่ดีต่อบุคคลที่ดี (the right thing to the right person)
๓. เป็นความรู้สึกและการกระทำเพื่อจุดมุ่งหมายที่ดี (the right extent)
๔. เป็นความรู้สึกและการกระทำในวิถีทางที่ถูกต้อง (the right way)
๕. เป็นความรู้สึกและการกระทำด้วยเจตนาดี (with the right motive)
พฤติกรรมทุกอย่างจะต้องใช้องค์ประกอบทั้ง ๕ อย่างนี้ตัดสินว่าเป็นทางสายกลางหรือไม่ ? ในกรณีของนาย ก. อาจเป็นความพอดีอันเป็นกลางหรือไม่ก็ได้ นาย ก.อาจเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรงพอดีพอเหมาะกับตัวเอง จนทำให้นาย ข. ซึ่งเป็นโจรเกิดความเดือดร้อนก็ได้ หรือถ้าไม่เป็นทางสายกลาง นาย ก. อาจเป็นเจ้าของโรงลิเกซึ่งเปิดแสดงกลางตลาดเก็บเงินค่าผ่านประตู ส่งเครื่องขยายเสียงรบกวนหูชาวบ้านในยามค่ำคืนก็ได้ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า องค์ประกอบ ๕ อย่างนี้ใช้ตัดสินเฉพาะในเรื่องความดีระดับธรรมดาเท่านั้น การที่นาย ค.ประพฤติผิดในกามในเวลาที่เหมาะสม ในสถานที่ดี ในหญิงที่ดี เพื่อจุดมุ่งหมายที่ดี และในวิถีทางที่ถูกต้อง เราไม่อาจเรียกว่าเป็นความดีที่เป็นทางสายกลางได้

ความสำคัญของทางสายกลาง

ทางสายกลางเป็นเรื่องของความรู้สึกและการกระทำที่พอเหมาะพอดีกับแต่ละบุคคล เป็นสภาวะกลางที่ทุกคนต้องขวนขวายหาเอาเองเพื่อสร้างความสมดุลในตัวเอง และ ทำให้สามารถอยู่รอดได้ในสังคมโลกพร้อมกับสันติสุขที่แท้จริง

ในสรรพสิ่งที่เป็นความดีระดับธรรมดานั้น ย่อมหาจุดกึ่งกลางได้เสมอ นั่นคือสัตว์โลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์มีสิทธิที่จะหาจุดกึ่งกลางที่พอ เหมาะพอดีกับตัวเองได้ “ค่อนข้างจะมั่นใจว่า ที่อาริสโตเติลสอนหลักทางสายกลางนี้ แท้ที่จริงแล้ว ท่านต้องการสอนให้รู้ว่า ชีวิตคือการต่อสู้นั่นเอง” อาริสโตเติลจึงมองว่า ทางสายกลางถือเป็นทางเลือก เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ สัตว์โลกโดยเฉพาะมนุษย์สามารถอยู่รอดได้ เพราะในทุกอย่างที่เป็นความดีระดับธรรมดานั้น มีจุดกึ่งกลางหรือทางสายกลางอันเป็นความพอดีไว้ให้เลือกอยู่ แท้ที่จริงแล้ว อาริสโตเติลต้องการกระตุ้นให้มนุษย์ต่อสู้กับอุปสรรคที่เข้ามาขัดขวางวิถี ชีวิตซึ่งอาจต้องประสบเข้าสักวันหนึ่ง ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

ทุก ศิลป์ ทุกการแสวงหา ทุกการกระทำ และทุกการเลือกสรรย่อมมีจุดกึ่งกลางอันเป็นความพอดีเป็นจุดหมายสุดท้าย ทุกสิ่งมุ่งไปที่ความดีอันเป็นจุดกึ่งกลางนั้น

ความเป็นด็อกเตอร์ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สูงส่งและไกลเกินฝันสำหรับคนชนบท บ้านนอกทั้งหลาย มองด้วยสายตาและประเมินด้วยความรู้สึกอย่างคร่าว ๆ เราก็พอจะรู้ว่าทุกอย่างที่จะพาไปสู่ความเป็นด็อกเตอร์นั้น ต้องเป็นสิ่งที่สุดโต่งข้างมากทั้งนั้นสำหรับเรา ในกรณีอย่างนี้ อาริสโตเติลบอกว่า “ยังก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ทุกสิ่งที่เป็นความดีระดับธรรมดานั้นต้องประกอบด้วยสภาวะทั้ง ๓ อย่างพร้อมกัน คือ (๑)มากเกินไป (๒)พอดี (๓)น้อยเกินไป”

วิถีชีวิตของนาย ก.ผู้ ต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกถึง ๖ คน โดยการเข็นรถขายไอศกรีมนั้น ย่อมเต็มไปด้วยความขาดแคลนขัดสน ขาดพร่องไปเสียทุกอย่าง ในสังคมนั้น อาจจะมีกิจการอื่นที่สร้างผลกำไรมหาศาล เช่น การเป็นเจ้าของธนาคาร หรือการเป็นเจ้าของกิจการโรงงานต่อรถยนต์ขนาดใหญ่ การที่นาย ก.ไม่สามารถเป็นเจ้าของกิจการธนาคารหรือโรงงานต่อรถยนต์ ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาต้องจมปลักอยู่กับการเข็นรถขายไอศกรีมตลอดไป นาย ก.มีสิทธิที่จะเลือกอาชีพและพบอาชีพที่พอดีพอเหมาะเแก่การดำรงชีพของเขาได้ ซึ่งอาจจะเป็นการตั้งร้านขายข้าวแกงก็ได้

กรณีของนาย ก.นี้ เราจะเห็นว่า การเป็นเจ้าของกิจการธนาคารหรือโรงงานประกอบรถยนต์เป็นที่สุดโต่งข้างมาก การเข็นรถขายไอศกรีมเป็นที่สุดโต่งข้างน้อย โดยมีการเป็นเจ้าของร้านขายข้าวแกงเป็นทางสายกลาง อาริสโตเติลบอกไว้เป็นทางเผื่อเลือกอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่สามารถหาพบทางสายกลางสำหรับตนเองได้ ก็ต้องเลือกเอาข้างที่ชั่วร้าย น้อยกว่า คือที่ตัวเราเห็นว่าชั่วร้ายน้อยกว่าอีกข้างหนึ่งนั่นเอง

ทางสายกลางของอาริสโตเติล
กับมัชฌิมาปฏิปทาในพระพุทธศาสนาเถรวาท

(๑) ข้อพิจารณาประเด็นที่เหมือนกัน

อาริสโตเติลใช้คำว่า “คุณธรรม” แทนคำว่า “ทางสายกลาง” ในบางกรณี เพราะคุณธรรมเป็นทางสายกลางแล้วโดยอัตโนมัติ อาริสโตเติลเองมีความเชื่อว่า บุคคลจะบรรลุคุณธรรมหรือทางสายกลางนี้ได้ก็เฉพาะในสังคมเท่านั้น และรัฐเท่านั้นที่จะสามารถช่วยให้ปัจเจกชนบรรลุคุณธรรมได้ คุณธรรมอันเป็นทางสายกลางถือเป็นจริยธรรมทางสังคมโดยสาระ เพราะมีลักษณะเป็นการประสานประนีประนอมหรือบูรณะสถานะ สภาวะ ความจำเป็นของมนุษย์แต่ละคนเข้ามาสู่จุดที่เป็นดุลยภาพ อาริสโตเติลมักพูด ถึงเรื่องในลักษณะต่อไปนี้เสมอ

ที่สุดโต่งข้างน้อย

ทางสายกลาง

ที่สุดโต่งข้างมาก
ความเกียจคร้าน

ความสันโดษ

ความละโมบ
ความถ่อมตัวเกินไป

ความเปิดใจกว้าง

มานะทิฏฐิ
ความไม่แยแสไม่ใส่ใจ

ความสุภาพอ่อนโยน

ความหงุดหงิดจู้จี้
ความเครียดหน้างอ

ความมีมิตรไมตรี

การประจบประแจง
ความแกล้งโง่เซ่อ

ความจริงใจ

การคุยอวดใหญ่โต

เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างที่อาริสโตเติลพูดถึง ล้วนเป็นหลักปฏิบัติที่เนื่องด้วยสังคมทั้งสิ้น เป็นหลักมนุษยสัมพันธ์ อาริสโตเติลแม้จะให้ความสนใจปัจเจกชนอยู่บ้าง แต่บทสรุปทุกครั้งก็จะเน้นไปที่สังคม ในกรณีที่มนุษย์คนใดคนหนึ่งใช้ชีวิตอยู่คนเดียวแล้วได้รับคำชมเชยว่า เป็นผู้ใช้ชีวิตที่เป็นกลาง อาริสโตเติลคัดค้านในข้อนี้
นางสาวจิตติมาชอบอยู่คนเดียว เธอไม่ค่อยติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นประมาณ ๒-๓ เดือนจึงจะมีคนไปเยี่ยมติดต่อกับเธอ และทุกคนที่ไปหาเธอ ต่างชมเชยเธอว่าเป็นคนดี สันโดษ เปิดใจกว้าง สุภาพอ่อนโยน เอาใจเก่ง มีมิตรไมตรี มีความจริงใจเป็นที่สุด

ในกรณีของนางสาวจิตติมานี้ อาริสโตเติลถือว่าอาจจะไม่ใช่วิถีชีวิตที่อยู่ใน ทางสายกลางก็ได้ เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว มนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวตลอดไปได้ มนุษย์จะสามารถค้นพบทางสายกลางที่แท้จริงได้เฉพาะในกรณีที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วม กับบุคคลอื่นเท่านั้น นี่คือบทสรุปหลักทางสายกลางในฐานะที่เป็นหลักปฏิบัติ เนื่องด้วยสังคม เป็นหลักสร้างความสมดุลแห่งชีวิตปัจเจกชนแล้วขยายวงกว้างออกไปถึงระดับโลก สร้างความสุขระดับธรรมดาและมีโอกาสพัฒนาขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดเป็นนิรันดร์ ได้

มัชฌิมาปฏิปทาในพระพุทธศาสนามีกัลยาณมิตรเป็นปัจจัยเริ่มแรก กัลยาณมิตรเป็นบุพพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอริยอัฏฐังคิกมรรค และความมีกัลยาณมิตรนี่เองเป็นปัจจัยทางสังคมพิเศษที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติ ดีงามและเป็นเครื่องจุดชนวนความคิดที่เรียกว่า“โยนิโสมนสิการ” ในเบื้องต้น และเป็นเครื่องประคับประคองเสริมเติมเต็มกระตุ้นโยนิโสมนสิการ มัชฌิมปฏิปทา เป็นระบบพัฒนาชีวิตให้พ้นทุกข์โทษ เข้าใจธรรมชาติ ทะนุถนอมธรรมชาติ และอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มอย่างมีสุข พิจารณาจากประเด็นที่กล่าวนี้ จะเห็นว่า มัชฌิมาปฏิปทาในพระพุทธศาสนากับทางสายกลางของอาริสโตเติลเหมือนในฐานะเป็นหลักปฏิบัติเนื่องด้วยสังคม อีก ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คืออาริสโตเติลจะเน้นปัจเจกชนแล้วแผ่ออกไปสู่สังคมรวม พระพุทธศาสนาโดยเฉพาะเถรวาทนั้นจะเน้นสังคมปัจเจกชนก่อนที่จะขยายไปสู่สังคม รวมเช่นเดียวกัน แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดคงไม่พ้นเรื่อง “เจตนา” อาริสโตเติลบอกว่าเกณฑ์ตัดสินความเป็นทางสายกลางข้อหนึ่งคือ “เจตนาดี”(the right motive) พระพุทธศาสนาก็มีข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” ภิกษุ ทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม และมีข้อความหลายตอนในคัมภีร์พระไตรปิฎกที่บอกว่า การกระทำที่ดีต้องมาจากจุดเริ่มต้นก่อนคือคิดดีเจตนาดี ถ้าคิดไม่ดี มีเจตนาไม่ดี การพูดและการกระทำทางกายก็ไม่ดีไปด้วยในขั้นนี้จะยังไม่แยกประเด็นว่าเป็นสังคมระดับโลกิยะหรือสังคมระดับโลกุตตระ


๒. ข้อพิจารณาประเด็นที่ต่างกัน

ความต่างกันทางด้านสถานะ ความ ต่างกันระหว่างหลักการทั้งสองน่าจะพิจารณาได้จากประเด็นต่อไปนี้ ทางสายกลาง ของอาริสโตเติลเป็นเรื่องของความรู้สึกและการกระทำของมนุษย์ที่เป็นไปเพื่อ ความอยู่รอดอย่างสันติสุข มีศักดิ์ศรีและคุณค่า จุดสำคัญที่ทำให้ทางสายกลางของอาริสโตเติลมีลักษณะเฉพาะมากขึ้น คือ ความเป็นทางเลือก ทุกคนจะต้องเลือกหาเอาเอง ในกรณีที่ไม่สามารถหาจุดกึ่งกลางได้ ยังสามารถเลือกเอาข้างที่ชั่วร้ายน้อยกว่า เราอาจจะให้คำนิยามทางสายกลางของอาริสโตเติลได้อย่างหนึ่งว่า “ทางเลือกที่ถูกเลือก”

จุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความที่มันดำรงสภาวะกลางจริง ๆ เพราะต้องอยู่ห่างจากที่สุดโต่งข้างน้อยและข้างมากในระยะทางที่เท่ากัน ไม่ว่าจะวัดจากด้านใด แม้ว่าโดยตัวของมันเอง ทางสายกลางจะมีความเป็นกลางพอดีมีมาตรฐานอยู่ด้วยตัวของมันเอง แต่เมื่อเอามาสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมนุษย์ ดูคล้ายกับว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ แน่นอนไม่มีมาตรฐานตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับการพิจารณาเลือกสรรของมนุษย์ ถือเป็นการดึงกฎเกณฑ์เข้ามาหาตัวมนุษย์

ความต่างกันทางด้านระดับ ทาง สายกลางอาริสโตเติลดูเหมือนจะเป็นจริยธรรมขั้นต้นเท่านั้นเมื่อเทียบกับหลัก จริยธรรมในพระพุทธศาสนา จริยธรรมในพุทธปรัชญาแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ (๑) ระดับศีลธรรมของสังคม คือ ศีล ๕ (๒) ระดับศีลละเอียดของสังคมคือกุศลกรรมบถ ๑๐ (๓) ระดับไตรสิกขาคือมรรคมีองค์ ๘

สามารถพูดได้อย่างไรว่า ทางสายกลางของอาริสโตเติลเทียบเท่ากับจริยธรรมระดับศีลธรรมของสังคมในพุทธ ปรัชญา ? อาริสโตเติลสอนทางสายกลางเน้นให้มนุษย์มีชีวิตอย่างสันติสุขมีศักดิ์ศรี คุณค่าในชีวิตประจำวัน โดยมีการเร่งเร้าให้มนุษย์ต่อสู้ชีวิต ขวนขวายพยายามต่อสู้ไปจนถึงที่สุด เช่น การประกอบอาชีพของมนุษย์ อาริสโตเติลกล่าวว่าอาชีพอะไรก็ได้ที่มันทำให้ชีวิตอยู่รอดได้อย่างสันติ สุขมีศักดิ์ศรีและไม่ผิดกฎหมายของบ้านเมือง

สมมติว่า นาย ก. มีอาชีพขายของชำ เนื่องจากร้านของเขาค่อนข้างจะใหญ่ ในร้านจึงเต็มไปด้วยสินค้าหลายชนิด และในจำนวนสินค้าเหล่านั้น ก็มียาฆ่าแมลง สุรา เหล้าเบียร์ แถมที่บ่อหลังบ้านยังมีการเลี้ยงปลาดุกเป็นอาชีพเสริมอีกด้วย อาชีพแบบนี้ ถ้าไปถามอาริสโตเติลว่า “นาย ก.ปฏิบัติตามหลักทางสายกลางหรือไม่ เขาค้นพบทางสายกลางหรือจุดกึ่งกลางหรือ ไม่ ?”

อาริสโตเติลจะตอบว่า “เขาค้นพบทางสายกลางแล้วแน่นอน เพราะเขาประกอบอาชีพสุจริต” ใน กรณีเดียวกันนี้ หันไปมองทรรศนะทางพระพุทธศาสนาโดยเอาหลักมัชฌิมาปฏิปทามา เทียบ นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาจะบอกว่า “ยังก่อน ปฏิบัติเช่นนี้ยังไม่ชื่อว่าปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา อาชีพของนาย ก.นั้นเป็นอาชีพสุจิตจริง แต่ไม่ชอบธรรม” เพราะเหตุไรนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาจึงกล่าวอย่างนี้ ? นิยามความหมายขององค์มรรคข้อสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ คำว่า “สัมมาอาชีวะ” หมายถึง การเลี้ยงชีพที่ถูกต้องชอบธรรม โดยงดเว้นจากาอาชีพ ๕ อย่างต่อไปนี้ คือ (๑) ค้าขายมนุษย์ (๒) ค้าขายอาวุธ (๓) เลี้ยงสัตว์เพื่อขาย/ฆ่า (๔) ค้าขายสุรา (๕) ค้าขายยาพิษ

นี่คือความต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างทางสายกลางของอาริสโตเติลกับ มัชฌิมาปฏิปทาในพระพุทธศาสนา ความจริง ทางสายกลางของอาริสโตเติลอธิบายเปรียบเทียบกับหลักปุริสธรรม ๗ ได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอัตตัญญุตา ความรู้จักตน มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ ปริสัญญุตา ความรู้จักบริษัท

ความต่างกันในด้านเกณฑ์ตัดสิน หลัก ปุริสธรรมในพระพุทธศาสนาถือเป็นจริยศาสตร์สังคมที่เอื้ออำนวยแก่การอยู่เป็น สุขในสังคม เป็นเรื่องของความรู้จักสังคมและในขณะเดียวกันก็ปรับตัวเองให้เข้ากับสังคม ได้อย่างกลมกลืนไม่แปลกแยก เพราะการที่บุคคลจะสามารถเลือกแนวทางอันเป็นจุดกึ่งกลางพอดีสำหรับตัวเองได้ ในเบื้องต้นต้องรู้จักตัวเอง รู้จักประมาณ รู้จักชุมชน และรู้จักการเข้าหาชุมชน แต่ปัญหาก็คือ ถ้าเปรียบเทียบอย่างนี้ นักจริยศาสตร์ยุคปัจจุบันก็จะไม่เห็นด้วยอีก เพราะถือว่าทางสายกลางของอาริสโตเติลเป็นจริยศาสตร์ เมื่อจะเปรียบเทียบหลักพระพุทธศาสนาก็ควรที่จะเปรียบเทียบกับจริยศาสตร์แท้ ในพระพุทธศาสนา นั่นคือ ศีล ๕ กุศลกรรมบถ ๑๐ และอริยมรรคมีองค์ ๘ จะเปรียบเทียบกับระดับไหนนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ทางสายกลางของอาริสโตเติลไม่อาจวัดเป็นจำนวนเลขตายตัว เพราะถูกกำหนดโดย บริบทของสังคมและสภาพแวดล้อมหลากหลาย แต่อาริสโตเติลกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า

ทาง สายกลางของผู้ใดต้องขึ้นอยู่กับการกำหนดของบุคคลนั้นเอง เขาเป็นผู้รู้ดีที่สุดว่าอะไรคือทางสายกลางสำหรับเขา แต่การกำหนดทางสายกลางของเขาต้องเป็นไปตามหลักเหตุผล ไม่ใช่ความรู้สึก
ข้อความนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับวัดความเป็นทางสายกลางในทรรศนะของอาริสโตเติล ในขณะที่หลักมัชฌิมาปฏิปทาในพระพุทธศาสนามีองค์ประกอบที่กำหนดความเป็น มัชฌิมาปฏิปทาไว้แน่นอน

มัชฌิม ปฏิปทาในพระพุทธศาสนา แปลว่า ข้อปฏิบัติอันมีในท่ามกลาง วิธีการหรือทางดำเนินชีวิตที่เป็นกลางตามธรรมชาติ สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ เป็นหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมซึ่งมีองค์ประกอบ ๘ อย่าง และทำให้ผู้ดำเนินตามเป็นอารยชน เป็นทางเก่าแก่ที่เคยมีผู้เดินมาก่อนแล้ว เป็นกฎเกณฑ์ที่วางไว้เป็นมาตรฐานแน่นอน ใน วิถีชีวิตมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องมีการเลือกสรรทางสายกลางอันเหมาะสมกับตนเอง เมื่อมีการปฏิบัติชอบ(สัมมาปฏิบัติ) ย่อมถือว่าดำเนินชีวิตเป็นกลางตามธรรมชาติ และเมื่อนั้นวิถีชีวิตของมนุษย์จะไต่ระดับขึ้นไปสู่สิ่งที่ดีเรื่อย ๆ จนถึงจุดหมายสุดท้ายคือหมดกิเลส

เราย่อมสรรเสริญสัมมาปฏิปทา ไม่ว่าจะเป็นของบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตาม คฤหัสถ์ ก็ตาม บรรพชิตก็ตามปฏิบัติชอบแล้ว เพราะการปฏิบัตินั้นเป็นเหตุ ย่อมยังญายธรรมอันเป็นกุศลให้สำเร็จได้ ก็สัมมาปฏิปทาคืออะไร คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ”
การบำเพ็ญธรรมหรือกระทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ที่ไม่ตึงเกินไปไม่หย่อนเกินไป บางคราวก็นิยมพูดว่า “เป็นการปฏิบัติทางสายกลาง” ลักษณะอย่างนี้ถูกต้องในทรรศนะของอาริสโตเติล แต่ในพระพุทธศาสนาถือว่า ไม่ถูกต้องนัก เพราะการปฏิบัติทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ถือว่าถ้ามีความมั่นใจว่าถูกต้องจริงแล้ว ยิ่งปฏิบัติด้วยการระดมความเพียรความเอาใจใส่สุดกำลังเพียงใด ยิ่งทำให้วิถีชีวิตสมบูรณ์ประเสริฐมากขึ้นเท่านั้น การปฏิบัติที่เริ่มต้น ด้วยสัมมาทิฏฐิ ย่อมไม่เฉออกนอกทาง เพราะมีองค์ประกอบที่เป็นสัมมา คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิทำหน้าที่ปรับให้เกิดความสมดุลภายในตัวบุคคลโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

อาริสโตเติลกับแนวคิดทางพระพุทธศาสนา

อาริสโตเติลเกิดเมื่อ พ.ศ.๑๕๙ ที่เมืองสตากิราในแคว้นเธรส ก่อนพระเยซูประสูติ ๓๘๔ ปี หลังการประสูติของพระสิทธัตถะโคดมพุทธเจ้า ๒๓๙ ปี เพราะฉะนั้น สามารถตั้งข้อสันนิษฐานในระดับหนึ่งว่า อาริสโตเติลไม่ได้รับอิทธิพลจากคริศต์ศาสนา แต่จะได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดเชิงศาสนาของลัทธิใดนั้นคิดว่าต้องมีแน่นอน ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งต่างหาก

ข้อมูลที่เราได้อย่างชัดเจนในตอนนี้ก็คือ อาริสโตเติลเกิดทีหลังพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนาในยุคที่อาริสโตเติลเกิดนั้นอยู่ในช่วงสมัยของพระเจ้าอโศก มหาราชพอดีซึ่งถือว่าเป็นยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาหลักพุทธปรินิพพาน พระเจ้า อโศกมหาราชเป็นกำลังสำคัญให้ความอุปถัมภ์ในการสังคายนาครั้งที่ ๓ และร่วมกับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระส่งสมณทูตออกไปประกาศพระศาสนายังนานาอารย ประเทศ อิทธิพลของแนวความคิดทางพระพุทธศาสนาในยุคนี้จึงแพร่หลายออกไปทั่ว ทุกทิศ ในฐานะเป็นนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ อาริสโตเติลคงไม่พลาดที่จะศึกษาแนวความคิดทางพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน แต่ศึกษาแล้วจะรับเอาแนวความคิดนั้นมาปฏิบัติหรือมาเป็นพื้นฐานทางปรัชญาของ ตนหรือไม่ นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ถ้าจะให้ผู้เขียนวิจารณ์ในประเด็นนี้ ผู้เขียนเองค่อนข้างจะมั่นใจว่า นักปรัชญาทุกคนเมื่อได้ศึกษาทฤษฎีใดแล้ว ไม่มีทางที่จะปล่อยให้ทฤษฎีนั้นผ่านเลยไปจากสมองของตัวเองอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธ แต่สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจได้ก็คือ นักปรัชญาจะเก็บทฤษฎีทุกอย่างที่เขาเคยมีประสบการณ์มา นักปรัชญาสำนักโยคา จารสอนเรื่อง “อาลวิญญาณ” ซึ่งเป็นที่เก็บก่อสิ่งที่มนุษย์ประสบอยู่ทุกขณะจิตในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ ประสบมาและเก็บไว้ในอาลยวิญญาณนี้ จะปรากฏตัวออกมาทางลักษณะนิสัย ความคิดการกระทำของบุคคลไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ในกรณีของอาริสโตเติลนั้น สมมติว่าได้ยินได้ฟังจากคนอื่น หรือได้ศึกษาทฤษฎีทางพระพุทธศาสนาด้วยตัวเอง แนวความคิดทฤษฎีนั้นก็จะฝังอยู่ในส่วนลึกของจิตใจนั่นคือ “อาลยวิญญาณ” และปรากฏตัวออกมาในเมื่ออาริสโตเติลได้แสดงหลักทางสายกลาง แต่เนื่องจากอาริสโตเติลเป็นผู้หนึ่งที่มีแนวความคิดที่โดดเด่นทางด้าน ปรัชญาการเมือง เสนอรูปแบบการจัดองค์การและระเบียบที่ดีให้แก่สังคม สอนหลักจริยธรรมของปัจเจกชนในสังคม ไม่ใช่จริยธรรมของปัจเจกชนในปัจเจกภาวะ เมื่อมีโอกาสได้แสดงหลักทางสายกลาง จึงแสดงเน้นไปที่ทางสายกลางระดับโลกิยะ ซึ่งเราจะเรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทาระดับโลกิยะ” ก็ได้ นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนได้ตั้งเป็นปัญหาไว้ให้ผู้สนใจใฝ่คิดได้ทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป

จุดประสงค์ในการแสดง

พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักมัชฌิมาปฏิปทามีจุดประสงค์ ๒ ประการ คือ
๑. เพื่อปฏิเสธแนวความคิดเชิงอภิปรัชญา ๒ ขั้ว คือ
๑.๑ ขั้วยืนยันสุดโต่ง ประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) อัตถิกทิฏฐิ (ความเห็นว่ามีอยู่) การกเวทกาทิเอกัตตวาท (ความเชื่อว่าผู้ทำกับผู้เสวยเป็นสิ่งเดียวกัน) และการกเวทกาทินานัตตวาท (ความเห็นว่าผู้ทำกับผู้เสวยต่างสิ่งกัน)
๑.๒ ขั้วปฏิเสธสุดโต่ง ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ) นัตถิกทิฏฐิ (ความเห็นว่าไม่มีอยู่) การกเวทกาทินานัตตวาท (ความเชื่อว่าผู้ทำกับผู้เสวยต่างสิ่งกัน)
๒. เพื่อปฏิเสธแนวความคิดเชิงจริยศาสตร์ ๒ ขั้ว คือ
๒.๑ กามสุขัลลิกานุโยค การหมกมุ่นในกาม การปฏิบัติโดยสนองตอบความต้องการของตัวเองด้วยสิ่งน่าใคร่น่าพอใจ
๒.๒ อัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติเคร่ง บีบรัดตัวเองให้ลำบากเพื่อไล่ความชั่วร้ายออกไปจากตัวเอง

พระพุทธเจ้าทรงแก้ปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างพวกสัสสตวาทินกับพวกอุจเฉท วาทินโดยทรงแสดงหลักมัชเฌนธรรมในรูปแบบปฏิจจสมุปบาท ให้มองโลกและปรากฏการณ์ในรูปแบบการอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น และทรงแก้ ปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างพวกกามสุขัลลิกานุโยคกับพวกอัตตกิลมถานุโยค โดยทรงแสดงหลักมัชฌิมาปฏิปทาตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปสู่ระดับสูงสุด ผู้ปฏิบัติอาจจะเริ่มแบบใดก็ได้ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยจริตของแต่ละบุคคล ผู้มีราคจริตก็อาจจะเจริญอสุภกัมมัฏฐาน ผู้มีโมหจริตก็อาจจะเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน ผู้มีโทสจริตก็อาจจะเจริญ เมตตาพรหมวิหาร เป็นต้น

อาริสโตเติลแสดงหลักทางสายกลางเพื่อจุดประสงค์อะไร ?

จริยศาสตร์อาริสโตเติลเป็นอันตวิทยา (Teleology) ซึ่งถือว่าการ เปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งปวงมีจุดหมายปลายทางที่แน่นอนอยู่ จุดหมายปลายทางนี้เป็นตัวกำหนดความเป็นไปของแต่ละสิ่ง (๑) จุดหมายระหว่างทาง เป็นจุดหมายเฉพาะหน้าที่มนุษย์ต้องการเพื่อผ่านไปสู่จุดหมายที่ไกลกว่านั้น (๒) จุดหมายปลายทาง เป็นจุดหมายที่เป็นจุดจบในตัวเองโดยไม่ต้องนำไปสู่จุดหมายอื่นต่อไป จุดหมายปลายทางของมนุษย์คือความดี ความดีคือความสุข การที่มนุษย์แสวงหาความดีก็เท่ากับพวกเขากำลังแสวงหาความสุขซึ่งเป็นจุดหมาย สูงสุดของชีวิต ความดีและความสุขเป็นเรื่องเดียวกันความสุขระดับสูงสุดในทรรศนะของอาริสโต เติลเป็นเรื่องความรู้สึกของวิญญาณ ไม่ใช่ของร่างกาย “ความสุขคือกิจกรรมของวิญญาณที่สอดคล้องกับคุณธรรมที่สมบูรณ์ คนที่มีความสุขคือคนที่ดำเนินชีวิตด้วยคุณธรรมที่สมบูรณ์” อาริสโตเติลจำแนกจุดหมายเป็น ๒ ประเภท คือ

พิจารณาจากรายละเอียดที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าจุดประสงค์ของการแสดงหลักทางสายกลางของอาริสโตเติลไม่ได้มีอะไร อื่นนอกจากเพื่อให้สังคมดำเนินไปด้วยคุณธรรมสมบูรณ์ ผู้เขียนคิดว่าอาริสโตเติลไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะแย้งแนวความคิดของสำนัก อื่นโดยตรง แต่ในฐานะที่เป็นนักปรัชญาคนหนึ่งที่โดดเด่นอยู่ในยุคนั้น อาริสโตเติลก็ต้องแสดงทฤษฎีออกมาให้นักปรัชญาอื่นได้รู้จัก และด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ก็ต้องแสดงหลักที่จะทำให้ชีวิตในสังคมอยู่ดีมีสุข

พระพุทธเจ้าแม้จุดประสงค์ที่ทรงแสดงหลักมัชฌิมาปฏิปทาเพื่อปฏิเสธทฤษฎีสุด โต่งดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีจุดประสงค์จะล้มล้าง แต่ทรงเสนอทางเลือกใหม่จากประสบการณ์ของพระองค์เอง พื้นฐานที่ทำให้ จริยศาสตร์ว่าด้วยทางสายกลางของอาริสโตเติลต่างจากหลักมัชฌิมาปฏิปทาในพระ พุทธศาสนาก็คือ แนวความคิดแบบเทวนิยมซึ่งอาริสโตเติลเรียกว่า “แบบ”(Form)และเป็นแบบบริสุทธิ์เป็นปฐมเหตุแห่งการเคลื่อนไหว แต่พระเจ้าในทรรศนะของอาริสโตเติลเป็นเพียงผู้ทำให้สรรพสิ่งเคลื่อนไหวโดย ที่ตัวเองไม่เคลื่อนไหว ไม่ได้เป็นผู้สร้างโลกเหมือนพระเจ้าในคริสตศาสนา http://www.watpaknam.org/knowledge/view.php?id=37

0 comments:

Post a Comment

 
ឡើងទៅខាងលើទំព័រ ចុះទៅខាងក្រោមទំព័រ