Thursday, December 9, 2010

A Theory of Justice

หมายเหตุกันไว้ก่อนเลยว่า A Theory of Justice ของจอห์น ราว์ลส์ เป็นอภิตำรากฎหมาย ซึ่งถูกแบ่งเป็นสามภาค ได้แก่ ภาคทฤษฎี (theory) สถาบัน (institutions) และ เป้าประสงค์ (ends) โดยบทวิจารณ์นี้จะมุ่งประเด็นไปเฉพาะภาคสองเท่านั้น เนื่องจากภาคสถาบันน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับสังคมไทยในปัจจุบันสูงสุด

ถ้าใครเป็นพหูสูตหน่อย ช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาน่าจะเคยได้ยินชื่อจอห์น ราว์ลส์ และหนังสือเล่มนี้มาก่อน หรือต่อให้ปิดหูปิดตาตัวเองขนาดไหน ก็คงหลีกไม่พ้นวลีอมตะ ซึ่งถูกหยิบยกมาจากภาคสถาบันของ A Theory of Justice นั่นคือ "อารยะขัดขืน" (Civil Disobedience) ถ้าเชื่อตามวิกิพีเดีย อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์คือนักวิชาการไทยท่านแรก ที่แปลวลีตัวนี้มาใช้กับสถานการณ์ในภาคใต้เมื่อสี่ห้าปีก่อน หลังจากนั้น มันได้กลายมาเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของกลุ่มการเมืองหลายต่อหลายกลุ่ม ขณะเดียวกัน ก็มีนักวิชาการออกมาทักท้วงว่านี่ เป็นการแปลผิด "civil" นั้นไม่ควรแปลว่า "อารยะ" ซึ่งมาจาก "อารยธรรม" (civilization) แต่น่าจะแปลว่า "ประชาชน" (civilian) เสียมากกว่า นักวิชาการบางคนก็เลยแปลออกมาเป็น “ดื้อแพ่ง” ซึ่งก็ฟังดูมีความหมายในเชิงลบอีก เราจะมาพูดกันต่อว่าสมควรแล้วหรือไม่ที่จะหยิบ อารยะขัดขืน หรือดื้อแพ่ง มาใช้ในบริบทของบ้านเรา

ผมเห็นอกเห็นใจนักวิชาการกลุ่มแรกๆ ที่พยายามแปล "Civil Disobedience" เป็นภาษาไทยอยู่ไม่น้อย ระหว่างที่ตัวเองเขียนบทวิจารณ์ชิ้นนี้ ก็พบว่ามีปัญหามากในเรื่องการแปล แค่หัวใจหลักในทฤษฎีความยุติธรรมของราว์ลส์ "Justice as Fairness" ก็จนปัญญาแล้วว่าจะ แปลไทยออกมาอย่างไรดี เนื่องจากในภาษาเราทั้ง "justice" และ "fairness" ก็แปลว่า "ความยุติธรรม" ด้วยกันทั้งคู่ พอมานั่งเปิดพจนานุกรมดู อีกความหมายหนึ่งของ "fairness" ที่พอถูไถคือ "ความเท่าเทียม" แต่ผมเห็นว่า "ความเท่าเทียม" น่าจะใกล้เคียงกับ "equality" เสียมากกว่า ในที่สุด จึงตัดสินใจแปล "Justice as Fairness" ออกมาเป็น "ความยุติธรรมจากการแลกเปลี่ยน" อันเนื่องมาจากคำจำกัดความของ "fairness" ที่ราว์ลส์กล่าวไว้ว่า "บุคคลใดๆ ย่อมอยู่ภายใต้ข้อบังคับให้ต้องทำหน้าที่ในส่วนของตน ตามที่กฎแห่งสถาบันเจาะจงเอาไว้ ตราบเท่าที่บุคคลผู้นั้นหาผลประโยชน์ หรือโอกาสแสวงหาผลประโยชน์จากสถาบันนั้น" พูดอีกนัยหนึ่ง “fairness” ก็คือการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล และสถาบันนั่นเอง

มีนักคิดผู้ยิ่งใหญ่สองคนลงความเห็นตรงกันคืออริสโตเติล และรุสโซ อริสโตเติลกล่าวว่ามนุษย์เรามีสามัญสำนึก ที่บอกว่าอะไรคือความยุติธรรม และสามัญสำนึกตัวนี้เองที่ช่วยให้เราอยู่รวมกันได้ในสังคม รุสโซไปไกลกว่านั้นก้าวหนึ่ง เขาบอกว่าสัตว์ป่ามีสัญชาตญาณซึ่งช่วยให้พวกมันใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ และความป่าเถื่อนได้ เมื่อมนุษย์แยกตัวเองออกจากธรรมชาติ มาอยู่ร่วมกัน สัญชาตญาณเถื่อนแปรเปลี่ยนมาเป็นสัญชาตญาณของความยุติธรรม ทั้งอริสโตเติล และรุสโซมองว่าความยุติธรรมอันเป็นกลจักรที่หมุนสังคม มาจากสามัญสำนึก หรือสัญชาตญาณ โดยไม่ต้องอาศัยการปลูกฝัง เพราะใครๆ ก็สามารถบอกได้ทันทีว่าอะไรยุติธรรม อะไรอยุติธรรม

ราว์ลส์ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เขายอมรับว่ามนุษย์เรามีสามัญสำนึก ของความยุติธรรม แต่ขณะเดียวกัน ทฤษฎีที่บ่งชี้ความยุติธรรม ก็น่าจะจำเป็นกับสังคมด้วย ราว์ลส์เรียกทฤษฎีตัวนี้ว่า "ความยุติธรรมอันเนื่องมาจากกระบวนการ" (procedural justice) ตัวอย่างอันหลักแหลมคือ คนกลุ่มหนึ่งหุ้นเงินเท่ากันเพื่อซื้อ ขนมเค้ก คำถามคือจะแบ่งเค้กอย่างไรดี คำตอบตามสามัญสำนึกคือแบ่งเท่าๆ กันตามจำนวนคน ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ไม่อาจอธิบายได้ว่าทำไม ถ้าจะใช้กระบวนการเป็นตัวตัดสิน ก็คือให้คนคนหนึ่งเป็นผู้ตัดแบ่งเค้ก โดยจะแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่เท่าไหร่ย่อมได้ แต่มีข้อแม้คือ ตอนที่หยิบเค้ก เขาจะได้เลือกเป็นคนสุดท้าย แน่นอนว่าเพื่อไม่ให้ตัวเองเสียเปรียบ ผู้ตัดย่อมแบ่งเค้กเป็นชิ้นเท่าๆ กันเสมอ อันนี้คือตัวอย่างว่าทั้งกระบวนการ และสามัญสำนึกนำไปสู่ความยุติธรรมตัวเดียวกันได้

ภาคทฤษฎีของ A Theory of Justice พูดถึงเงื่อนไขอันเป็นพื้นฐานของกระบวนการ เงื่อนไขนี้เป็นแนวคิดที่สำคัญมากในภาคทฤษฎี แต่จะขอข้ามไป ไม่พูดถึงในบทวิจารณ์นี้ กระบวนการซึ่งตรงตามเงื่อนไขมีได้ มากกว่าหนึ่งกระบวนการ เช่นทุนนิยม สังคมนิยม ประโยชน์นิยม ประชานิยม เศรษฐกิจพอเพียง หรือประชาธิปไตย ถ้าทุกสมาชิกในสังคมแลกเปลี่ยนกันตามกระบวนการที่กำหนดไว้ (fairness) ผลลัพธ์ย่อมคือความยุติธรรม

ภาคสถาบันของ A Theory of Justice พูดถึงการปรับกระบวนการยุติธรรมมาใช้ในทางปฏิบัติ โดยราว์ลส์แสดงให้เห็นว่าทั้งความยุติธรรมอันเนื่องมาจากกระบวนการยุติธรรม และเนื่องมาจากสามัญสำนึก ควรจะใกล้เคียงกันหรือต่างกันไม่มากนัก สามัญสำนึกของความยุติธรรมอิงอยู่บนเสรีภาพ (liberty) ถ้ากลับไปตัวอย่างเรื่องแบ่งเค้ก หากสมาชิกคนใดได้รับส่วนแบ่งน้อยกว่าผู้อื่น แล้วไม่อาจโวยวาย หรือทักท้วง ก็แปลว่าเสรีภาพของเขากำลังถูกริดรอน กระบวนการยุติธรรมที่ตรงตามเงื่อนไขนั้น ย่อมรับประกันได้ว่าจะนำไปสู่การที่สมาชิกทุกคนมีเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน ถึงที่สุด และไม่เบียดเบียนเสรีภาพของผู้อื่น

คำถามชวนขบคิดในภาคปฏิบัติเช่น สังคมควรทำเช่นไรดีกับกลุ่มสมาชิกที่ปฏิเสธความคิดเห็นของผู้อื่น (intolerance) ตัวอย่างที่ยกมาใน A Theory of Justice คือกลุ่มศาสนา แต่ขณะนี้สังคมไทยก็เต็มไปด้วยกลุ่มการเมืองที่มีคุณลักษณะดังกล่าว ราว์ลส์อธิบายว่า กลุ่มคนประเภทนี้มักเกิดมาจากการรวมตัวของผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ (ประชาธิปไตย อมาตยาธิปไตย สังคมนิยม หรืออะไรก็แล้วแต่) โดยพวกเขายึดถืออุดมการณ์ของตัวเองเป็นสิ่งถูกต้อง ดังนั้นกลุ่มอื่นที่ไม่ยอมรับในอุดมการณ์นี้ ย่อมประพฤติปฏิบัติ และมีความคิดเห็นอันไม่สมควร กระนั้นอุดมการณ์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขของกระบวนการ ดังนั้นจึงไม่มีใครมีสิทธิอ้างอุดมการณ์ มาอยู่ในประโยคเดียวกับความยุติธรรมได้

คำถามต่อไปคือสังคมควรทำอย่างไรดีกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว เรามีสิทธิที่จะปฏิเสธพวกเขา เหมือนที่พวกเขาปฏิเสธคนอื่นไหม คำตอบคือไม่ สังคมหรือสถาบันไม่ใช่พื้นที่ให้ กลุ่มบุคคลมาต่อสู้ รบรากัน "fairness" คือการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล และสังคม ไม่ใช่บุคคลต่อบุคคล การที่ฝ่ายหนึ่งลุกขึ้นมายึดสถานที่ราชการ อีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจตอบโต้ด้วยการเผาทำลายข้าวของสาธารณะ เพราะนั่นคือการทำร้ายสังคม ไม่ใช่ทำร้ายฝ่ายแรก ถ้าอย่างนั้นเราจะจัดการอย่างไรดี กับกลุ่มบุคคลที่ปฏิเสธความคิดเห็นของผู้อื่น น่าเสียดายที่แม้แต่ราว์ลส์เองก็ไม่มีคำตอบอันน่าพึงพอใจ เขาบอกว่า "ต่อให้กลุ่มคนดังกล่าวผุดขึ้นมาในสังคม ถ้าความคิดของพวกเขาไม่ก้าวร้าวเกินไป จนชักชวนให้สมาชิกลุกขึ้นมาสร้างความเสียหาย หรือถ้าคนกลุ่มนี้ไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนจิตวิทยาของพวกเขาครอบงำคนส่วนใหญ่ ท้ายสุดกลุ่มเช่นนี้จะสลายตัว และยอมรับในเสรีภาพของผู้อื่นไปเอง" น่าเศร้าเหมือนกัน ที่กรณีข้อยกเว้นดังกล่าว ได้เกิดขึ้นแล้วกับประเทศเรา

ช่วงท้ายของภาคสถาบัน อ่านแล้ว “มัน” มากๆ ยิ่งถ้านึกตามบริบทของสังคมไทยไปด้วย ราว์ลส์พูดถึงความขัดแย้งระหว่างเสียงส่วนใหญ่ และเสียงส่วนน้อย ในบ้านเราก็มีประโยคอมตะ ที่ค่อนข้างกลวงเปล่าคือ “ประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่เฉพาะการเลือกตั้ง” ที่บอกว่ามันกลวงเปล่าเพราะจนบัดนี้ ผ่านมาสาม สี่ปีแล้ว ก็ยังไม่เห็นมีใครเสนอคำตอบน่าพึงพอใจได้เลยว่า นอกจากการเลือกตั้งแล้วจะมีอะไรอีกได้บ้างในระบอบประชาธิปไตย ใน A Theory of Justice ราว์ลส์ให้แง่คิดว่าการเลือกตั้งนั้นแตกต่างจากตลาดเสรี เงื่อนไขของตลาดคือการที่แต่ละปัจเจกนำเสนอความต้องการของตัวเอง ทั้งความต้องการขาย และซื้อสินค้า โดยกลไกตลาดจะเป็นตัวปรับราคา และกำลังการแลกเปลี่ยนอย่างยุติธรรม พูดอีกอย่างคือ ปัจเจกจะต้องแสดงความเป็นปัจเจกออกมาเท่านั้น ตลาดเสรีจึงจะทำงานได้ ในทางตรงกันข้าม กระบวนการยุติธรรม “ไม่ใช่การต่อรองที่ต่างฝ่ายต่างยึดถือผลประโยชน์ของตัวเอง…ไม่ได้เกิดมาจากการรอมชอมผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน แต่มาจากการหานโยบายที่ดีที่สุด” นักการเมืองไทยชอบเข้าใจผิดว่าพวกเขาคือปากเสียงของประชาชนที่เลือกเขาเข้ามาทำงาน แต่แท้จริง นักการเมืองคือปากเสียงของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนที่ถูกเลือกมาโดยคนกรุงเทพ คนต่างจังหวัด ชาวนา คนมุสลิม หรือว่าคนกลุ่มใดก็ตาม เมื่อเข้ามาในสภาแล้ว หน้าที่ของเขาคือปกป้องผลประโยชน์ และความยุติธรรมของชาติ ไม่ใช่เพียงเฉพาะหมู่คณะที่สนับสนุนตัวเขา

อีกประเด็นร้อนคืออารยะขัดขืน ในวิกิพีเดีย ตัวอย่างของอารยะขัดขืนที่ถูกยกมาคือกรณี Rosa Park สตรีผิวดำผู้ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายแบ่งแยกสีผิว สำหรับราว์ลส์แล้ว การกระทำดังกล่าวไม่ถูกจัดว่าเป็นอารยะขัดขืน แต่เรียกว่า การต่อต้านอย่างตั้งใจ (conscientious refusal) การต่อต้านอย่างตั้งใจคือการที่เราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายตัวใดตัวหนึ่ง แล้วประกาศสงครามโดยสงบกับรัฐบาล ส่วนอารยะขัดขืนนั้นไม่ใช่การประกาศสงคราม แต่เป็นการเตือนให้สังคมตระหนักรู้ถึงความอยุติธรรม “มันคือการขัดขืนกฎหมาย ภายใต้ขอบเขตของการเคารพกฎหมาย” อารยะขัดขืนคือเครื่องมือสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐ และประเทศชาติ ไม่ใช่เข็มทิศที่นำไปสู่สภาพอนาธิปไตย หรือเพื่อประกาศ “สงครามครั้งสุดท้าย” ที่สำคัญกลุ่มบุคคลจะออกมาอารยะขัดขืนได้ก็ต่อเมื่อความอยุติธรรมนั้น มันจะแจ้ง ชนิดที่ไม่ว่าใครต่อใครก็ต้องเห็นด้วยกับกลุ่มบุคคลนั้น แต่ในบ้านเรา กลุ่มอารยะขัดขืนมักจะมาพร้อมกับเครือข่ายโฆษณาชวนเชื่อ “แฉ” “รู้ทัน” และเปิดเผย “ความจริง” (ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นความจริงแบบปนเปื้อน) เพื่อให้ของที่ไม่จะแจ้ง มันดูจะแจ้งขึ้นมา

เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศไทยช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าต้นเหตุจะเกิดจากสีใดๆ คุณว่าพวกเขากำลังอารยะขัดขืนอยู่หรือเปล่า

นั่นคือคำถามซึ่งราว์ลส์ฝากทิ้งไว้ให้คนอ่าน พวกเราทุกคน

http://www.onopen.com/loveyouallmass/09-07-12/4891

0 comments:

Post a Comment

 
ឡើងទៅខាងលើទំព័រ ចុះទៅខាងក្រោមទំព័រ