Thursday, December 9, 2010

Leon Trotsky


1. สามสิบห้าปีหลังคอมมูนปารีส : จาก 1871 ถึง 1906
โดย ลีออน ตรอทสกี

ถ้า พิจารณาสภาพสังคมเราเมื่อไม่กี่ปีมาก่อน อาจมองได้ว่าเราห่างจากประเพณีของคอมมูนปารีส มากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปทุกประเทศ แต่หลังจากที่เราผ่านขั้นตอนแรกของการปฏิวัติ ซึ่งเป็นการต่อสู้ของกรรมาชีพเพื่อปฏิวัติถาวร อย่างไม่หยุดชะงัก สังคมเราต้องเผชิญหน้ากับมรดกของคอมมูน 1871 โดยตรงมากกว่าชาติอื่นในยุโรป

สำหรับ เรา ประวัติศาสตร์ของคอมมูนไม่ใช่เพียงบทหนึ่งที่ตื่นเต้นในการต่อสู้เพื่อ เสรีภาพในระดับสากล และไม่ใช่เพียงตัวอย่างของยุทธวิธีหนึ่ง แต่เป็นบทเรียนที่มีความสำคัญกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยตรง
1.1 รัฐและการต่อสู้เพื่อยึดอำนาจ

การ ปฏิวัติ คือ การทดสอบพลังระหว่างชนชั้นอย่างเปิดเผย เพื่อได้มาซึ่งอำนาจ มวลชนลุกสู้เนื่องจากแรงกดดัน และผลประโยชน์สำคัญพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางและจุดหมายปลายทางของกระบวน การ. ฝ่ายหนึ่งเขียน "กฎหมายและความยุติธรรม" บนธงของตัวเอง อีกฝ่ายเขียน "ความสงบเรียบร้อย". "วีรชน" ของการปฏิวัติจะอาศัยจิตสำนึกใน "ภาระหน้าที่" หรืออาจหลงตัวเอง. พฤติกรรมของกองทัพถูกกำหนดโดยวินัยซึ่งไม่ใช้เหตุผล แต่ความกลัวสามารถลบล้างวินัยได้ หรือในที่สุดจิตสำนึกปฏิวัติจะเอาชนะทั้งวินัยและความกลัว. ความกระตือรือร้น ผลประโยชน์ส่วนตัว ระเบียบงานประจำ ความคิดที่บินสูงขึ้นอย่างอิสระ ความคิดเชื่อในเจ้าในผี ความเสียสละ นี่คือความรู้สึก ความคิด อารมณ์ ความสามารถ และกิเลสผูกพันกันเหมือนถูกผสมลงในน้ำวนยักษ์ใหญ่ บางส่วนจะสูญหายไป บางส่วนจะลอยขึ้นบนผิวน้ำ แต่ในที่สุดความหมายหลักของการปฏิวัติคือการต่อสู้เพื่ออำนาจรัฐในนามของ การสร้าง สังคมใหม่

แต่รัฐไม่ใช่จุดหมายปลายทางในตัวมันเอง รัฐเพียงแต่เป็นเครื่องมือของพลังชนชั้นปกครอง ลักษณะของเครื่องมือหรือเครื่องจักรก็คือ มีจักร มีระบบถ่ายกำลัง และมีชิ้นส่วนต่างๆ พลังในการขับเคลื่อนเครื่องมือนี้คือผลประโยชน์ชนชั้น เครื่องจักรคือการรณรงค์ สื่อมวลชน การโฆษณาชวนเชื่อ ของวัดและโรงเรียน พรรคการเมือง การประชุมตามท้องถนน ฎีกา และการปฏิวัติยึดอำนาจ ระบบถ่ายกำลังคือสถาบันที่สร้างกฎหมายของวรรณะ ของผลประโยชน์ทรัพย์สิน หรือของชนชั้น ที่ใช้ความศักดิ์สิทธิ์ (ระบบเผด็จการ) หรือ มติของชาติ(ระบบรัฐสภา) เป็นกลไกหลอกลวง

สุดท้าย ชิ้นส่วนของจักร คือ ฝ่ายบริหาร ตำรวจ ศาล คุก และกองทัพ

รัฐ ไม่ใช่จุดหมายปลายทางในตัวมันเอง แต่เป็นกลไกยักษ์ใหญ่ในการจัดระเบียบ ล้มระเบียบ และสร้างระเบียบใหม่ของความสัมพันธ์ทางสังคม มันจะเป็นกลไกในการปฏิรูปสังคมหรือเป็นกลไกที่พิทักษ์ความเฉื่อยชาได้ทั้ง นั้น ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในมือใคร

ทุกพรรคการเมืองที่มีศักดิ์ศรีจะ พยายามได้มาซึ่งอำนาจรัฐ เพื่อที่จะใช้รัฐเป็นเครื่องใช้ในการตอบสนองผลประโยชน์ของชนชั้นผู้ก่อตั้ง พรรค พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคของชนชั้นกรรมาชีพก็ย่อมฝ่าฟันเพื่อที่จะให้กรรมาชีพเป็นผู้ ครองอำนาจ

ชนชั้นกรรมาชีพพัฒนาขึ้นและมีพลังมากขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาของระบบทุนนิยม ในแง่หนึ่ง การพัฒนาระบบทุนนิยมก็เป็นการพัฒนาไปสู่เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ แต่ เงื่อนไขสำคัญที่กำหนดวันและเวลาของการได้อำนาจโดยชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ใช่ระดับการพัฒนาของระบบการผลิตในขั้นแรก เพราะเงื่อนไขที่สำคัญกว่านั้นในระยะสั้น คือความสัมพันธ์ของความขัดแย้ง ทางชนชั้น สถานการณ์สากล และเงื่อนไขของความพร้อมที่จะสู้ ประเพณี และความพร้อมที่จะนำตัวเองของผู้กระทำ

ในประเทศที่ด้อยพัฒนาทาง เศรษฐกิจ ชนชั้นกรรมาชีพอาจสามารถยึดอำนาจรัฐได้ก่อนกรรมาชีพในประเทศทุนนิยมที่พัฒนา ในปี 1871 กรรมาชีพยึดการบริหารกิจของสังคมในมือตัวเองในเมืองปารีสที่เป็นเมืองนายทุน น้อย เราต้องยอมรับว่าถืออำนาจได้แค่สองเดือน แต่กรรมาชีพในศูนย์กลางทุนนิยมเช่น อังกฤษ หรือ สหรัฐอเมริกามิได้ถืออำนาจแม้แต่ชั่วโมงเดียว ฉะนั้นการมองว่าถ้าเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพจะเกิดขึ้นได้ต้องขึ้นอยู่กับ เงื่อนไข เทคนิคของระบบการผลิตโดยอัตโนมัติ เป็นการมองแบบกลไกเกินไปและเป็นการ มองต่างรูปแบบจากลัทธิมาร์คซ์

การ ที่กรรมาชีพปารีสยึดอำนาจในวันที่ 26 มีนาคม 1871 ไม่ได้เกิดขึ้นจากความสุกงอมของระบบการผลิตทุนนิยม หรือการมองโดยกรรมาชีพเองว่าระบบดังกล่าวสุกงอมพอแล้ว แต่เขาจำต้องยึดอำนาจเนื่องจากการทรยศของชนชั้นนายทุนต่อการป้องกันประเทศ มาร์คซ์เองเคยชี้แจงตรงนี้ว่าการป้องกันเมืองปารีส และฝรั่งเศสทั้งประเทศ ทำได้โดยวิธีเดียว คือการติดอาวุธให้กรรมชีพทั้งชนชั้น แต่กรรมาชีพที่ติดอาวุธและพร้อมที่จะปฏิวัติเป็นภัยอย่างยิ่งกับชนชั้นนาย ทุน ฉะนั้นรัฐบาลนายทุนของ ธีแอร์ส ไม่ได้พยายามที่จะปลุกมวลชนฝรั่งเศสเพื่อต่อสู้กับบิสมาร์คที่ล้อมเมือง ปารีสแต่อย่างใด ตรงข้าม เขาให้ความสำคัญกับการปลุกกระดมกระแสปฏิกิริยาเพื่อทำลายกรรมาชีพปารีส มากกว่า รัฐบาลจึงถอนกำลังออกจากปารีสเพื่อวางแผนต่อไปในเมืองแวรซาย

กรรมาชีพ ปารีสที่ต้องการอิสรภาพสำหรับประเทศและความสุขสำหรับตัวเองและ มวลประชา จึงเข้าใจดีว่าถึงเวลาที่เขาจะต้องกู้ชาติและในเวลาเดียวกันลุกขึ้นมากำหนด อนาคตตัวเอง กรรมาชีพปารีสปฏิเสธที่จะยึดอำนาจไม่ได้ เพราะถูกบังคับจากสถาการณ์การเมือง การถืออำนาจจึงมาโดยไม่ได้คาดหมาย แต่หลังจากที่ยึดอำนาจเสร็จพลังของชนชั้นกรรมาชีพจำต้องเดินตามแนวทางที่ถูก ต้อง ถึงแม้ว่าจะไม่มั่นใจในตัวเอง จุดยืนทางชนชั้นของกรรมาชีพปารีส ตามที่มาร์คซ์กับเองเกิลส์เคยอธิบาย บังคับให้ชนชั้นนี้ต้องปฏิรูปโครงสร้างของรัฐในขั้นแรก และเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจตามมา ถ้าคอมมูนปารีสล้มเหลวในที่สุด ไม่ได้ล้มเหลวเพราะระบบการผลิตยังไม่พัฒนาพอ แต่ล้มเหลวเพราะ สถานการณ์ทางการเมือง เช่นการที่ปารีสถูกตัดขาดจากส่วนอื่นของประเทศ บวกกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย และท้ายสุดล้มเหลวอีกเพราะข้อผิดพลาดของคอมมูนเอง
1.2 สาธารณรัฐ และ เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ

คอม มูนปารีสปี 1871 ไม่ได้เป็นคอมมูนสังคมนิยมและองค์กรปกครองของมันไม่ได้เป็นองค์กรปกครองของ การปฏิวัติสังคมนิยม คอมมูนปารีสเพียงแต่เป็นการเปิดฉากของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการปฏิวัติสังคมนิยม ปารีสไม่ได้กลายเป็นระบบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพเพราะประกาศตัวเป็นสาธารณรัฐ แต่การเป็นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพมาจากการที่ตัวแทนคอมมูน 72 คน จากจำนวนตัวแทนทั้งหมด 90 คน เป็นคนกรรมาชีพที่ได้รับการปกป้องจากกองกำลังติดอาวุธของกรรมาชีพเอง ส่วนสาธารณรัฐนั้นเพียงแต่เป็นรูปแบบธรรมชาติของพลังกรรมาชีพที่สถาปนาขึ้น รูปแบบการปกครองสาธารณรัฐในโลกปัจจุบัน ถึงแม้ว่ามีต้นกำเนิดจากองค์กรประชาธิปไตยและมติของมวลประชา ในความจริงเพียงแต่เป็นรูปแบบหนึ่งของรัฐเผด็จการชนชั้นผู้มีทรัพย์สินเท่า นั้น

เองเกิลส์ ในคำนำบทความเรื่อง "สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส" เคยตั้งข้อสังเกตว่า "บางคนคิดว่าตัวเองก้าวไกลไปข้างหน้า เมื่อสามารถ ปลดปล่อยตัวเองจากความคิดเรื่องกษัตริย์ที่ปกครองตามสายเลือดและประกาศตัว ว่าสนับสนุนสาธารณรัฐประชาธิปไตย แต่ในความจริง รัฐก็เป็นเพียงเครื่องมือ ของชนชั้นหนึ่งในการกดขี่ชนชั้นอื่น ไม่ว่าจะเป็นระบบกษัตริย์หรือระบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย" ฉะนั้นถึงแม้ว่าความคิดสังคมนิยมสากลจะเชื่อว่าสาธารณรัฐ เป็นรูปแบบเดียวของการปลดแอกสังคมนิยม แต่ในกรณีรัฐสังคมนิยมชนชั้นกรรมาชีพจะฉุดรูปแบบสาธารณรัฐจากมือของชนชั้น นายทุนและแปรสภาพมันจากเครื่องมือในการกดขี่ทางชนชั้นไปเป็นอาวุธในการปลด แอกมนุษย์ด้วยระบบ สังคมนิยมแทน
1.3 การพัฒนาเศรษฐกิจกับเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ

เมื่อสื่อสังคมนิยมของเราเริ่มเสนอความคิดเกี่ยวกับ "การปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง" (ปฏิวัติถาวร) ที่เชื่อมโยงการทำลายระบบเผด็จการขุนนางกับการปฏิวัติสังคมนิยม โดยผ่านขั้นตอนการต่อสู้ทางสังคม การลุกขึ้นของส่วนใหญ่ๆของมวลชน และการต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้งของชนชั้นกรรมาชีพต่ออำนาจอภิสิทธิ์เศรษฐกิจ ของชนชั้นปกครอง สื่อของฝ่าย "ก้าวหน้า" ต่างตะโกนแสดงความไม่พอใจเป็นหนึ่ง เขาต้องทนความยากลำบากมานาน แต่นี้มันเกินเหตุ! สื่อของพวกนี้ร้องว่าการปฏิวัติไม่ใช่เส้นทางที่มีความชอบธรรม แต่เป็นยุทธวิธีในกรณีพิเศษเท่านั้น ขบวนการปลดแอกไม่ได้มีเป้าหมายให้การปฏิวัติเกิดขึ้นตลอดกาล! แต่มีเป้าให้กระบวนการในการเปลี่ยนสังคมเข้ามาอยู่ในกรอบของกฎหมายให้เร็ว ที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ฯลฯ นี่คือจุดยืนของพวก "ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ"

พวก ประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญเหล่านี้มีไม่น้อยที่เคยเป็น "มาร์คซิสต์"ในอดีต แต่บัดนี้เกิดเสรีภาพในด้านความคิดชนิดที่มาจากการมองอะไร แบบแคบๆ โดยไม่มองโลกทั้งโลก พวกนี้จะพยายามเอาข้อสรุปของลัทธิมาร์คซ์ เกี่ยวกับการปฏิวัติไปฝังไว้ภายใต้การ"วิจารณ์"นักสังคมนิยมปฎิวัติด้วยวิธี ที่เขาอ้างว่าเป็น "วิธีการของมาร์คซ์" เขาจะกล่าวหาว่า “พวกปฏิวัติที่เป็นทาสกับความคิดแบบล้าสมัย ที่ตกยุค และทรยศกับความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปความคิดลัทธิมาร์คซ์” เสมอ

การ ปฏิวัติที่ต่อเนื่องหรือ? การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนิยม? แต่ ลัทธิมาร์คซ์ ได้สอนไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่งย่อมเกิดขึ้น เมื่อสังคมเดิมหมดพลังและความจำเป็นที่จะดำรงอยู่ไม่ใช่หรือ? ทุนนิยมรัสเซียหมดพลังหรือยัง? หรือพวกสังคมนิยมเชื่อเหมือนนักจิตนิยมว่าสามารถล้มระบบทุนโดยใช้ระบบความ คิด? ฯลฯ .....ฯลฯ บางที่พวกเสรีนิยมที่คิดว่าพวกประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญรุนแรงเกินไป จะนำข้อโต้แย้งของอดีต "มาร์คซิสต์" มาใช้เองด้วย

ทุนนิยมต้อง "หมดพลังเอง" ก่อนที่ชนชั้นกรรมาชีพจะยึดอำนาจรัฐได้ คำพูดนี้แปลว่าอะไร? แปลว่าต้องพัฒนาพลังการผลิตและยกระดับพลังการผลิตให้เข้มข้นถึงจุดสูงสุด? ถ้าเป็นเช่นนั้นจุดสูงสุดนี้คืออะไร? มีรูปแบบองค์ ประกอบอะไรบ้าง?

การ พัฒนาเศรษฐกิจในรอบสิบ ยี่สิบ สามสิบปีที่ผ่านมา แสดงให้เราเห็นว่าทุนนิยมเป็นระบบที่รวบรวมการผลิตในภาคต่างๆ ภายใต้การควบคุมของคนไม่กี่คน นอกจากนี้แล้วรอบๆ ศูนย์กลางการผลิตขนาดใหญ่จะมี อุตสาหกรรม และธุรกิจขนาดย่อมที่เติบโตเหมือนกาฝาก ในภาคเกษตรกรรมระบบทุนนิยมย่อมจะทำลายการผลิตขนาดเล็ก โดยแปรรูปชาวนาไปเป็น “กรรมาชีพเกษตร” กรรมาชีพอุตสาหกรรม พ่อค้าแม่ค้าตามท้องถนน และขอทาน หรือในบางกรณีระบบทุนนิยมจะรักษาระบบการผลิตของชาวนาภายใต้เงื่อนไขกรอบ เหล็กของทุนนิยม หรืออาจสร้างธุรกิจเกษตรกรรมเล็กๆ ที่เป็นแหล่งแรงงาน สำหรับเจ้าของที่ดินรายใหญ่ แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่เห็นจากการพัฒนารูปแบบหลากหลายทั้งหมดเหล่านี้คือ มูลค่าที่ผลิตจากธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลหลักในสังคมการผลิต มักจะเติบโตเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับมูลค่าจากธุรกิจรายย่อย และการเติบโตของธุรกิจยักษ์ใหญ่จะเพิ่มการประสานงานระหว่างภาคการผลิต ต่างๆ ในเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะมีผลทำให้การถือครองระบบการผลิตโดยส่วนรวมง่ายขึ้น ฉะนั้นคำถามที่เราจะต้องถามต่อผู้ที่วิจารณ์ทฤษฎีของเราคือ สัดส่วนระหว่างระบบการผลิตภาคเกษตรรายย่อยกับภาคการผลิตยักษ์ใหญ่ จะต้องเปลี่ยนไปแค่ไหน ถึงจะทำให้ทุนนิยมหมดกำลังในตัวเอง หรือสุกงอม พร้อมที่จะให้กรรมาชีพเด็ดลงมาหรือเก็บเกี่ยวได้?

พรรคของเราไม่ได้ หวังที่จะสร้างระบบสังคมนิยมจากจิตสำนึกทางสังคมนิยม แต่จะต้องวางรากฐานของระบบสังคมนิยมบนฐานวัตถุที่มาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเราคาดว่าคงจะไม่หยุดยั้งหลังจากที่ชนชั้นกรรมาชีพได้อำนาจ แต่ประเด็นหลักที่สำคัญที่สุดสองแง่ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งในการพิจารณาปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนา เศรษฐกิจกับเผด็จการ ชนชั้นกรรมาชีพ คือ

1. การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ถึงขั้นตอนนานมาแล้วที่ทำให้ระบบสังคมนิยมมีประโยชน์มากกว่าระบบการจัดการของสังคมปัจจุบัน

2. ชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถเลือกวันเวลาที่เหมาะสมในการเข้าถืออำนาจรัฐตามใจ ชอบ ความขัดแย้งทางชนชั้น ซึ่งเติบโตบนฐานวิวัฒนาการของระบบทุนนิยม เป็นกระบวนการที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจิตใจมนุษย์

พวกนักวิชาการฝ่ายทุน ซึ่งรวมถึงนักวิชาการบางคนที่เล่นทฤษฎีมาร์คซ์เพื่อ โต้แย้งกับนักสังคมนิยม ล้วนแต่ไม่เข้าใจผลของความขัดแย้งทางชนชั้น พวกนี้จะคำนึงถึงระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเดียว โดยไม่กล้าที่จะคำนึงถึงความขัดแย้งทางชนชั้นและผลของความขัดแย้งดังกล่าว

กระแส สังคมนิยมมีภาระและความต้องการที่จะสะท้อนความเป็นจริงในสังคม แต่เมื่อความขัดแย้งทางชนชั้นที่เป็นจริงเปิดโอกาสให้ชนชั้นกรรมาชีพที่ ปฏิวัติ เลือกระหว่างการยึดอำนาจรัฐกับการประนีประนอมทางชนชั้น นักสังคมนิยมจะต้องเลือกแนวทางยึดอำนาจรัฐ ในเวลาเดียวกันกระแสสังคมนิยมจะไม่ลืมกระบวนการการพัฒนาที่ลึกกว่านั้นซึ่ง หมายถึงกระบวนการพัฒนาและรวมศูนย์ของการผลิต แต่นักสังคมนิยมจะสรุปว่า ถ้าการต่อสู้ทางชนชั้น ซึ่งในที่สุดเกิดขึ้นบนรากฐานระบบการผลิต ผลักดันให้ชนชั้นกรรมาชีพสร้าง เผด็จการทางชนชั้นก่อนที่ชนชั้นนายทุนจะ "หมดกำลัง" ในการพัฒนาเศรษฐกิจ (และในเวลาที่ชนชั้นนายทุนเกือบจะยังไม่ได้เริ่มภาระทางการเมือง) ประวัติศาสตร์เพียงแต่โยนภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงกับชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น กระแสสังคมนิยมไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้ ถึงแม้ว่าชนชั้นกรรมาชีพอาจไม่ประสบความสำเร็จในครั้งนั้น เพราะการหลีกเลี่ยงการต่อสู้จะนำ ความหายนะมาสู่ชนชั้นกรรมาชีพและความป่าเถื่อนมาสู่สังคม
1.4 การปฏิวัติ ชนชั้นนายทุน และชนชั้นกรรมาชีพ

ชน ชั้นนายทุนไม่สามารถนำประชาชนในการต่อสู้โค่นล้มเผด็จการกษัตริย์หรือ ทหารเพื่อสถาปนาประชาธิปไตยแบบรัฐสภาทุนนิยม แต่ในเวลาเดียวกันการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพเป็นอุปสรรคในการทำข้อตกลง ระหว่างเผด็จการกับชนชั้นนายทุนเพื่อสร้างประชาธิปไตยแบบรัฐสภา กระแสประชาธิปไตยทุนนิยมไม่สามารถเป็นกระแสนำของชนชั้นกรรมาชีพได้ เพราะชนชั้นกรรมชีพได้พัฒนาเลยขั้นตอนนั้นแล้ว ชนชั้นกรรมาชีพปัจจุบันมีความต้องการที่จะนำหน้านายทุน กระแสประชาธิปไตยนายทุนอ่อนแอยิ่งกว่ากระแสเสรีนิยมและสองกระแสนี้ห่างเหิน จากประชาชนและเกือบจะไม่มีความหมายกับคนส่วนใหญ่ ชนชั้นนายทุนมิได้รับโอกาสในการนำสังคมจากความคิดทางการเมืองเขาเอง ฉะนั้น อิทธิพลของนายทุนมาจากฐานะที่ได้เปรียบทางสังคมเท่านั้น

ชนชั้น กรรมาชีพเป็นทั้งกำลังนำและกำลังหลักในการปฏิวัติ ชนชั้นอื่นนำการปฏิวัติไม่ได้ ชนชั้นกรรมาชีพจะไม่พอใจกับการประนีประนอมในรูปแบบต่างๆ ทุกชนิด ถึงแม้ว่าการต่อสู้เพื่อชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งจะจบลงด้วยการยึดอำนาจของชนชั้นนี้ จะต้องใช้เวลาหยุดพักบ้างหรือถอยกำลังบ้าง
1.5 ชนชั้นกรรมาชีพและชาวนา

ภาระ หน้าที่แรกของชนชั้นกรรมาชีพเมื่อยึดอำนาจรัฐ จะเป็นภาระหน้าที่ทางการเมืองดังต่อไปนี้คือ สร้างฐานการปกครองที่มั่นคง ติดอาวุธให้ฝ่ายปฏิวัติ ปลดอาวุธฝ่ายปฏิกิริยา ขยายฐานสนับสนุนการปฏิวัติ และสร้างรัฐในรูปแบบใหม่ ในการทำงานดังกล่าวชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียจะต้องไม่ลืมบทเรียนจากคอมมูนปารีส โดยเฉพาะเรื่องการสร้างรัฐใหม่ บทเรียนที่สำคัญจากคอมมูนปารีสที่ต้องนำมาใช้ตั้งแต่ต้น คือการสลายกำลังกองทัพและตำรวจ การติดอาวุธ ให้มวลประชา การสลายระบบข้าราชการ การนำระบบเลือกตั้งมาใช้ในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทุกประเภท การลดเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐให้เท่ากับเงินเดือนเฉลี่ยของคนงาน และการแยกศาสนาออกจากรัฐ

แต่ชนชั้นกรรมาชีพจะไม่สามารถสร้างความมั่น คงในการครองอำนาจ ถ้าไม่ขยายฐานของการปฏิวัติ มวลประชาที่ทำงานหลายระดับ โดยเฉพาะในชนบท จะต้องถูกดึงเข้ามาสนับสนุนการปฏิวัติและถูกจัดตั้ง แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อชนชั้นนำในการปฏิวัติซึ่งคือชนชั้นกรรมาชีพ สามารถคุมอำนาจรัฐได้ เพราะการปลุกระดมและการจัดตั้งจะใช้ทรัพยากรของรัฐและท้ายสุดอำนาจในการออก กฎหมายจะกลายเป็นอาวุธที่สำคัญในการปลุกระดมมวลประชาให้ปฎิวัติ นอกจากนี้การที่ชนชั้นกรรมาชีพต้องรับภาระหน้าที่ในการปฏิวัติกระฎุมพีจะ สร้างทั้งอุปสรรคและโอกาสให้กับชนชั้นกรรมาชีพ ในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชาวนา ชนชั้นกรรมาชีพจะได้เปรียบมหาศาล

ในการปฏิวัติปี 1789 - 1793 และ 1848 อำนาจรัฐผ่านจากกษัตริย์ ไปสู่ส่วนของชนชั้นนายทุนที่อ่อนน้อมที่สุดและชนชั้นนี้ได้ปลดแอกชาวนา (โดยวิธีการที่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้) ก่อนที่จะเกิดประชาธิปไตย ฉะนั้นหลังจากนั้นชาวนาที่ถูกปลดแอกไปจากระบบทาสก็หันมาเลิกสนใจในการเมือง ของ "ชาวกรุง" เลิกสนใจในการปฏิวัติ และแปรตัวไปเป็นฐานนิ่งของ "ความมั่นคง" ที่สนับสนุนฝ่ายปฏิกิริยา

การปฏิวัติรัสเซียไม่สามารถ สถาปนาการปกครองใดๆ ในรูปแบบรัฐธรรมนูญทุนนิยมที่สามารถแก้ปัญหาเบื้องต้นของประชาธิปไตยได้ ยกตัวอย่างเช่น พวกข้าราชการหัวปฏิรูป "แบบวิท" มักจะทำลายความพยายามในการปฏิรูปของตัวเองด้วยการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด ฉะนั้นผลประโยชน์พื้นฐานของชาวนา ซึ่งรวมถึงผลประโยชน์ของชาวนาทั้งชนชั้น ผูกพันกับชะตากรรมของการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ

ชนชั้นกรรมาชีพที่ครองอำนาจจะปรากฎตัว ต่อหน้าชนชั้นชาวนา ในรูปแบบชนชั้นที่ปลดแอกชนชั้นชาวนา

เช่นเดียวกับกรณีคอมมูนปารีส ชนชั้นกรรมาชีพจะมีสิทธิ์ประกาศว่า "ชัยชนะของเรา คือชัยชนะของท่าน"

การปกครองของชนชั้นกรรมาชีพ นอกจากจะก่อให้เกิดการ
ปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีความเท่าเทียมกันแล้ว ยังจะก่อให้เกิดการปกครองตัวเองอย่างเสรี การโยกย้ายภาระการเสียภาษีไปสู่ชนชั้นที่มั่งมี การสลายกำลังกองทัพไปสู่มวลชนที่ติดอาวุธ การยกเลิกภาษีที่จ่ายให้องค์การศาสนา และยิ่งกว่านั้นการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าการยึดที่ดินจากเจ้าที่ดินมา เป็นของชาวนารายย่อยเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ชนชั้นกรรมาชีพจะยึดถือการกระจายที่ดินเป็นขั้นตอนพื้นฐาน ในการพัฒนาเกษตรกรรมขั้นต่อไปของรัฐ ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ชาวนารัสเซียจะไม่ลดความสนใจและการสนับสนุนในกระบวนการปฏิวัติกรรมาชีพ เหมือนกับที่ชาวนาฝรั่งเศสสนับสนุนรัฐบาลของนโปเลี่ยน โบนาพาร์ท ที่ประกันการยึดครองที่ดินของชาวนารายย่อยด้วยกำลังทหาร ฉะนั้นระบบผู้แทนราษฎรภายใต้การนำของชนชั้นกรรมาชีพที่ได้รับการสนับสนุนจาก ชนชั้นชาวนา จะเป็นรูปแบบการปกครองของประชาธิปไตยแรงงานที่เป็นประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง

แต่ ชนชั้นชาวนาสามารถเข้ามายึดอำนาจแทนชนชั้นกรรมาชีพได้ไหม? เป็นไปไม่ได้! บทเรียนและประสบการณ์ประวัติศาสตร์สอนให้เราเข้าใจว่า ชนชั้นชาวนาไม่สามารถมีบทบาททางการเมืองที่เป็นอิสระได้ แม้แต่สหภาพ ของชาวนาก็ไม่ใช่สหภาพที่มีความอิสระทางชนชั้น แต่เป็นแนวร่วมระหว่างพวก ประชาธิปไตยก้าวหน้ากับชาวนาบางส่วนที่มีจิตสำนึกเท่านั้น ประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยมสอนให้เราเห็นว่าชนบทต้องขึ้นกับเมือง สหภาพชาวนาจะเป็นกองกำลังช่วยเหลือการต่อสู้ในเมือง และนอกจากนี้แล้วเมื่อการต่อสู้พัฒนายิ่งขึ้น ความขัดแย้งทางผลประโยชน์เล็กๆ น้อย ๆ ระหว่างชาวนาระดับต่าง ๆ จะเพิ่มทวีขึ้นทุกวัน
1.6 วิธีการและเป้าหมายของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ

เผด็จ การชนชั้นกรรมาชีพไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับเผด็จการของพรรค หรือองค์กรปฏิวัติเหนือชนชั้นกรรมาชีพ แต่เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ คือเผด็จการเหนือสังคมทั้งสังคมโดยผ่านชนชั้นกรรมาชีพ ตัวอย่างที่ดีที่สุคือ คอมมูนปารีส

ในคอมมูนปารีสทุกสิ่งทุกอย่าง สร้างบนรากฐานความอิสระของกรรมาชีพ กรรมการกลางของกองรักษาการแห่งชาติเตือนกรรมาชีพไม่ให้ลืมว่า ผู้แทนที่เลือกจากกรรมาชีพเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้รับใช้กรรมาชีพที่แท้จริง "จงหลีกเลี่ยงผู้มั่งมี เพราะน้อยครั้งที่ผู้มั่งมีจะถือกรรมาชีพเป็นพี่เป็นน้อง" คือคำเขียนของกรรมการกลาง คอมมูนคือกรรมการของชนชั้นกรรมาชีพ กองรักษาการแห่งชาติคือกองทหาร เจ้าหน้าที่คือผู้รับใช้กรรมาชีพ นี่คือเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ

รัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพจะไม่เป็น รัฐบาลมหัศจรรย์ การออกกฎหมายลดชั่วโมงการทำงาน เพิ่มภาษีกับผู้มั่งมี ยึดทรัพย์สินและการผลิตมาเป็นของส่วนรวม จะเป็นสิ่งง่ายดาย สิ่งที่ยากคือการนำกฎหมายเหล่านั้นมาปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยอาศัยการจัดตั้ง ของชนชั้นกรรมาชีพ

เหนือกว่านั้นเมื่อชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียยึดอำนาจ รัฐด้วยวิธีการปฏิวัติ เรียบร้อยแล้ว ชนชั้นนี้จะขยันทำงานเพื่อประสานเป้าหมายและชะตากรรมของชาติตัวเองกับเป้า หมายในการสร้างสังคมนิยมทั่วโลก เป้าหมายการปฏิวัติสากลไม่เพียงแต่เป็นเป้าหมายที่ตรงกับจุดยืนสากลนิยมของ กรรมาชีพเท่านั้น แต่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเอาตัวรอดของชนชั้นกรรมาชีพรัสเซีย

ชนชั้น กรรมาชีพรัสเซียจะไม่พ่ายแพ้ และจะสามารถต่อสู้จนถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าให้ความสำคัญกับเงื่อนไขการขยายการปฎิวัติออกนอกกรอบและขอบเขตของการ ปฏิวัติระดับชาติไปสู่การปฏิวัติและชัยชนะของกรรมาชีพทั่วโลก

จาก Leon Trotsky “On the Paris Commune” (1987) Pathfinder Press , New York

เขียนที่เมืองเซนท์พีเทอร์สเบอร์ก ธันวาคม 1905

แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์

http://www.marxists.org/thai/archive/trotsky/perm-rev/ch02.htm

0 comments:

Post a Comment

 
ឡើងទៅខាងលើទំព័រ ចុះទៅខាងក្រោមទំព័រ